Monday, September 9, 2013

หมวด 6 สัญญาณเรียกขาน (Call sign)

หมวด 6
สัญญาณเรียกขาน (Call sign)

หมวดนี้ก็สำคัญไม่แพ้หมวดอื่นๆ และก็มีประเด็นที่ฮือฮาสนั่นวงการอยู่ด้วย คือ การเพิกถอนสัญญาณเรียกขานของผู้ที่ไม่ต่อใบอนุญาต ลองมาดูกันว่ามีประเด็นอะไรอีกบ้างหรือไม่

เดิมหมวดนี้ไม่มีอะไรโดดเด่น เป็นเพียงข้อกำหนดกว้างๆ ว่าผู้ที่เป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นจะได้รับการกำหนดสัญญาณเรียกขานตอนที่ไปขอใบอนุญาต และสัญญาณเรียกขานก็เป็นไปตามข้อบังคับวิทยุระหว่างประเทศ เท่านั้นจบ ซึ่งของใหม่ก็ระบุไว้ไม่ได้ต่างกัน เพียงแต่มีข้อที่เพิ่มเข้ามาอีก

เรื่องแรกเลยเป็นเรื่องของกรณีชาวต่างประเทศที่มาเทียบประกาศนียบัตรกับไทย แล้วจะได้รับสัญญาณเรียกขานในหมวด "HS0Zxx" ซึ่งของใหม่จะไม่กำนดแบบนี้แล้วแต่จะกำหนดให้ใช้ "HS0/" แทนของเดิม เช่น นักวิทยุสมัครเล่นชาวอเมริกัน มีสัญญาณเรียกขาน K2JFW เมื่อมาเทียบกับไทยแล้วจะได้รับสัญญาณเรียกขานไทย เป็น HS0/K2JFW

ความเห็นที่ได้เสนอไปนั้นจะให้คงการกำหนดสัญญาณเรียกขาน "HS0Zxx" ให้กับชาวต่างประเทศเช่นเดิม แต่มีเงือนไขเพิ่มเข้ามา ได้แก่


  1. ได้รับอนุญาตให้พักอาศัยในประเทศไทย (Residence Visa/Permanent Visa)
  2. ได้รับอนุญาตให้ทำงานในประเทศไทย (Work Permit Visa)
  3. ได้รับอนุญาตให้ใช้ชีวิตบั้นปลายในประเทศไทย (Retirement Visa)

สำหรับชาวต่างชาติที่เข้ามาชั่วคราวสั้นๆ ก็ให้กำหนดสัญญาณเรียกขาน "HS0/" เพื่อไม่ให้เปลืองโดยเปล่าประโยชน์ เพราะมาเพียงสั้นๆ และอาจไม่กลับมาอีกเลย ไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดสัญญาณเรียกขาน "HS0Zxx" ไปให้

แต่ไม่แน่ใจว่าเหตุใดจึงถูกตัด หรือแปลความเป็นอย่างที่ร่างกำหนดมา คงต้องไปให้ข้อมูลเพิ่มหรือสอบถามถึงเหตุผลกันต่อไป

เรื่องยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ มีการกำหนดว่าจะต้องแจ้งสัญญาณเรียกขานของตนเองอย่างน้อย 1 ครั้งทุกๆ 10 นาทีไม่ว่าจะเป็นการใช้งานสถานีวิทยุสมัครเล่นชนิดใดก็ตาม (สถานีวิทยุสมัครเล่นทั่วไป สถานีทวนสัญญาณ สถานีเชื่อมต่อโครงข่ายสาธารณะ และอื่นๆ) เพื่อการแสดงตัวตนที่ชัดเจน

และยังกำหนดอีกด้วยว่าการส่งสัญญาณเรียกขานนั้นต้องกระทำด้วยประเภทของการส่งสัญญาณที่อนุญาตในช่วงความถี่นั้นๆ เช่น ถ้าอยู่ในแถบความถี่ที่อนุญาตให้ใช้งานรหัสมอร์ส (CW) ก็ต้องส่งสัญญาณเรียกขานด้วยรหัสมอร์ส ตรงไหนใช้เสียงพูดแบบ SSB ใช้ต้องส่งด้วย SSB ตรงไหนใช้ FM ก็ต้องส่งเสียงพูดด้วย FM และถ้าเป็น Mode อื่นๆ ก็เช่นเดียวกัน

มาถึงประเด็นร้อนแรงที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือเรื่องของการเพิกถอนสัญญาณเรียกขาน หากไม่ต่อใบอนุญาต โดยกำหนดเงื่อนไขไว้ 3 ข้อดังนี้


  1. กรณีที่ใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นฉบับเดิมหมดอายุไปแล้ว เป็นระยะเวลาเกินกว่าสองปี นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ใบอนุญาตหมดอายุ ซึ่งพนักงานวิทยุสมัครเล่นนั้นยังไม่ได้ดำเนินการขอรับใบอนุญาตฉบับใหม่และชำระค่าปรับกรณีการยื่นคำขอใบอนุญาตภายหลังจากใบอนุญาตฉบับเดิมหมดอายุตามที่กำหนด
  2. กรณีพนักงานวิทยุสมัครเล่นที่เสียชีวิตแล้ว
  3. กรณีพนักงานวิทยุสมัครเล่นถูกเพิกถอนใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นตามหลักเกณฑ์การพิจารณาโทษในภาคผนวก 7


สำหรับข้อ 2 และ 3 นั้นไม่ต้องอธิบายกันมากก็เข้าใจได้ สำหรับข้อ 1 คือถ้าใบอนุญาตเดิมหมดอายุไปแล้วเกินกว่า 2 ปี แล้วยังไม่ได้ขอใบอนุญาตใหม่ ก็จะเพิกถอนสัญญาณเรียกขานนั้นคืน ซึ่งก็จะมีประเด็นที่ต้องคิดตามมาว่าแล้วจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง เช่น

  1. สัญญาณเรียกขานเดิมที่ถูกเพิกถอนไปนั้น จะทำอย่างไร จะไปกำหนดให้กับพนักงานวิทยุสมัครเล่นคนใหม่ได้เลยทันทีหรือไม่
  2. กสทช มีระบบในการบันทึกอย่างไรเรื่องการกำหนดสัญญาณเรียกขานของบุคคล เช่น สัญญาณเรียกขาน "HS2JFW" ในระหว่างปี พ.ศ. 2535 - 2555 นั้นถูกกำหนดให้กับใคร เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นไปอาจไม่ได้ถูกกำหนดให้กับคนเดิมอีกต่อไปแล้ว หาก HS2JFW ไม่ได้ขอรับใบอนุญาตฉบับใหม่ เพราะฉบับเดิมได้หมดอายุลงไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553
  3. ถ้ากรณีที่ HS2JFW ได้ถูกเพิกถอนสัญญาณเรียกขานไปแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2555 แล้วมีความประสงค์จะกลับมาเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นใหม่ สามารถทำได้หรือไม่
  4. หากสามารถทำได้ จะต้องผ่านการสอบเพื่อรับใบประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเลน่ใหม่หรือเปล่า หรือว่าไปขอใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นฉบับใหม่ได้เลย
  5. หากไปขอใบอนุญาตฉบับใหม่จะต้องเสียเงินค่าปรับย้อนหลังหรือเปล่า ถ้ากรณีเสียเงินค่าปรับจะเริ่มนับเวลาตั้งแต่เมื่อใด เริ่มนับจากวันที่ใบอนุญาตฉบับเดิมหมดอายุเลยหรือเปล่า
  6. ถ้ากรณีที่สัญญาณเรียกขานเดิมของผู้ที่ไปใบอนุญาตใหม่ หลังจากที่ถูกเพิกถอนไป ยังไม่ได้ถูกำหนดให้กับผู้อื่น จะมีสิทธิขอใช้สัญญาณเรียกขานเดิมได้หรือไม่
  7. กสทช จะมีระบบที่ให้นักวิทยุสมัครเล่นได้สามารถสืบค้น และตรวจสอบได้หรือไม่ว่าปัจจุบันสัญญาณเรียกขานนี้ได้ถูกกำหนดให้กับใคร
นี่เป็นตัวอย่างที่ต้องคิดกันต่อไปอีก อาจมีท่านอื่นสงสัยอีกหลายประเด็นก็เป็นไปได้



No comments:

Post a Comment