Friday, September 6, 2013

หมวด 1 บททั่วไป

อันดับแรกเลยที่ยังไม่เข้าหมวดที่พบได้ชัดเจนก็คือ ชื่อของประกาศเปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว ของปัจจุบันที่ใช้งานอยู่ ใช้ชื่อเรียกว่า

ระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่น พ.ศ. ๒๕๕๐ 
ฉบับใหม่จะใช้ชื่อว่า 
ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่น 
จะเห็นว่ามีการเรียกที่แตกต่างกัน ซึ่งก็เข้าใจว่าน่าจะให้มีความสอดคล้องกับประกาศฉบับอื่นๆ ที่ออกมาก่อนหน้านี้

ต่อไปนี้ก็จะว่ากันไปเป็นหมวดไปเลยตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งก็ยังไม่แน่ใจว่าจะจบได้เมื่อไหร่ ก็ขอให้ติดตามกันเรื่อยๆ แล้วกันครับ

หมวด 1
บททั่วไป

หมวดนี้หลักๆ ก็จะว่ากันด้วยเรื่องของคำจำกัดความต่างๆ วัตถุประสงค์ก็เพื่อให้เข้าใจตรงกันถึงความหมายของคำที่จะกล่าวถึงต่อไป โดยรวมแล้วคำจำกัดความส่วนมากจะคล้ายหรือเหมือนของเดิม ที่ได้มีเพิ่มเข้ามาได้แก่

“กิจการวิทยุสมัครเล่นผ่านดาวเทียม” หมายความว่า กิจการวิทยุสมัครเล่น ซึ่งเป็นการใช้งานคลื่นความถี่และใช้สถานีภาคอวกาศหรือดาวเทียม  

ที่เพิ่มมาก็ช่วยให้มีความชัดเจนเรื่องการกำหนดช่วงความถี่สำหรับการติดต่อสื่อสารผ่านดาวเทียมวิทยุสมัครเล่นที่ปัจจุบันนี้มีปัญหาอยู่อย่างต่อเนื่องคือมีนักวิทยุสมัครเล่นจำนวนไม่น้อยที่ยังไ่ม่ทราบ คิดว่าไปใช้งานได้เหมือนความถี่ปกติทั่วไป ซึ่งทำให้เกิดการรวบกวนกันได้

“สถานีวิทยุขององค์กรวิทยุสมัครเล่น (Club station)” หมายความว่า สถานีวิทยุคมนาคม   ขององค์กรวิทยุสมัครเล่นที่ตั้งขึ้นเพื่อการพัฒนาตนเอง การศึกษา วิจัย ทดลอง สาธิต การแข่งขัน กิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสถานีวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่ายในพื้นที่นั้นๆ

หัวข้อนี้เป็นสถานีแบบใหม่ที่ประเทศเรายังไม่คุ้นเคยมากนัก แต่ความจริงเราก็มี Club station ลักษณะแบบนี้มานานแล้ว รวมถึงในต่างประเทศก็ใช้สถานีแบบนี้เพื่อการฝึกฝนนักวิทยุสมัครเล่นให้มีความชำนาญ หรือแม้กระทั้งเป็นสถานที่ทำกิจกรรมได้หลายอย่างมากมาย นักวิทยุสมัครเล่นคนใด ไม่มีกำลังทรัพย์มากที่จะซื้ออุปกรณ์ดีๆ ไว้ใช้งานเองที่บ้าน ก็สมัครเข้าเป็นสมาชิกของ Club แล้วก็ไปใช้งานสถานี Club ได้ อีกด้วย

“สถานีวิทยุสมัครเล่นประเภททวนสัญญาณ (Repeater)” หมายความว่า สถานีวิทยุสมัครเล่นที่ติดตั้งใช้งานเครื่องวิทยุคมนาคมชนิดทวนสัญญาณ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลในการใช้งานโดยสถานีวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่าย

อ่านดูแล้วมันไม่ชัดเจนเอาเสียเลย อ่านแล้วไม่ได้อะไรใหม่ ประมาณว่า สถานีทวนสัญญาณ ก็คือสถานีทวนสัญญาณ ควรจะเปลี่ยนเป็นว่า

"สถานีวิทยุสมัครเล่นประเภททวนสัญญาณ (Repeater)” หมายความว่า สถานีวิทยุสมัครเล่นที่รับสัญญาณวิทยุจากสถานีวิทยุสมัครเล่นซึ่งในขณะเดียวกันนำสัญญาณที่รับได้มาส่งออกยังอีกความถี่หนึ่งที่ต่างกัน"

คำที่สำคัญไม่มีไม่ได้คือ "ส่งออกยังอีกความถี่ที่ต่างกัน" เพราะถ้าส่งออกความถี่เดียวกันจะกลายเป็นสถานีอีกแบบ และไม่จำเป็นต้องระบุในที่นี้ก็ได้ว่าให้อยู่ภายในการดูแลของสถานีวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่าย เพราะไม่น่าจะใช่คำจำกัดความของสถานีทวนสัญญาณ ควรนำไปกำหนดอยู่ในข้อกำหนดเรื่องการขออนุญาตตั้งสถานีทวนสัญญาณ

“สถานีวิทยุสมัครเล่นที่เชื่อมโยงผ่านเครือข่ายสาธารณะ”  หมายความว่า สถานีวิทยุสมัครเล่นที่ติดตั้งเครื่องวิทยุคมนาคมในกิจการวิทยุสมัครเล่นเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายสื่อสารสาธารณะ อาทิ อินเตอร์เน็ท วงจรเช่าใช้ เป็นต้น    

สำหรับห้วข้อนี้ยังไม่พูดถึงตอนนี้ก็แล้วกัน เพราะมีรายละเอียดที่จะต้องทำอีกมาก ไว้ค่อยแยกเป็นอีก 1 เรื่องใหญ่ๆ ที่ต้องทำ

“องค์กรวิทยุสมัครเล่น” หมายความว่า องค์กรของพนักงานวิทยุสมัครเล่นที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบของชมรม หรือจดทะเบียนนิติบุคคลเป็นสมาคม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับกิจการวิทยุสมัครเล่น

“ภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน” หมายความว่า เหตุใดๆ อันอาจเกิดขึ้นหรือเกิดขึ้น และคาดหมายได้ว่าเหตุดังกล่าวอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายในชีวิต ทรัพย์สิน สิทธิ หรือเสรีภาพของประชาชนในวงกว้าง และให้หมายถึงสาธารณภัยต่างๆ ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้วย

ส่วนคำจำกัดความที่ถูกตัดออกไปก็มีนะ ได้แก่

“ข่ายวิทยุสมัครเล่นทั่วประเทศ” หมายความว่า ข่ายวิทยุสมัครเล่นที่ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร

และก็มีบางคำจำกัดความที่เปลี่ยนความหมายใหม่ เพื่อให้กระชับและได้ใจความมากขึ้นได้


เก่า ใหม่
“สถานีวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่าย”
หมายความว่า สถานีวิทยุสมัครเล่นซึ่งทำหน้าที่ควบคุม การใช้วิทยุสมัครเล่นตั้งขึ้นในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร
“สถานีวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่าย”
หมายความว่า สถานีวิทยุสมัครเล่นขององค์กรวิทยุสมัครเล่นที่จดทะเบียนนิติบุคคลเป็นสมาคม ซึ่งคณะกรรมการรับรองให้ทำหน้าที่กำกับและส่งเสริมกิจการ วิทยุสมัครเล่นในพื้นที่รับผิดชอบ โดยตั้งขึ้นในพื้นที่ทั่วประเทศ
“สมาคม”
หมายความว่า สมาคมวิทยุสมัครเล่นที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ รับรองให้ทำหน้าที่บริหารสถานีวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่าย
“องค์กรวิทยุสมัครเล่น”
หมายความว่า องค์กรของพนักงานวิทยุสมัครเล่นที่จัดตั้งขึ้นในรูปแบบของชมรม หรือจดทะเบียนนิติบุคคลเป็นสมาคม ซึ่งมีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับกิจการวิทยุสมัครเล่น
“สถานีกิจกรรมพิเศษ” 
หมายความว่า การตั้งสถานีวิทยุคมนาคมเพื่อการทดลอง การสาธิต การแข่งขัน เพื่อการศึกษาหรือกิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์
“สถานีวิทยุสมัครเล่นสำหรับกิจกรรมพิเศษ (Special event station)”
หมายความว่า สถานีวิทยุคมนาคมของพนักงานวิทยุสมัครเล่นหรือองค์กรวิทยุสมัครเล่นที่ตั้งขึ้นเป็นการชั่วคราวเพื่อการพัฒนาตนเอง การศึกษา วิจัย ทดลอง สาธิต การแข่งขัน กิจกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน

นอกจากนี้แล้วยังเห็นว่าควรจะต้องมีคำจำกัดความเพิ่มเติมเข้ามาอีก เพื่อทำความเข้าใจที่ตรงกันของทุกฝ่าย ได้แก่

"สถานีให้สัญญาณ (Beacon)" หมายถึง สถานีวิทยุสมัครเล่นที่ทำการส่งสัญญาณเพื่อวัตถุประสงค์ของการทดสอบสภาพภูมิอากาศและประสิทธิภาพการรับสัญญาณ หรือวัตถุประสงค์อื่นที่เกี่ยวข้องกับการทดลอง

"การรบกวนอย่างรุนแรง" หมายถึง การรบกวนที่เป็นอันตรายต่อการทำงานของกิจการวิทยุนำทาง หรือ
กิจการเพื่อความปลอดภัย หรือ การรบกวนที่ทำให้เกิดผลเสียอย่างร้ายแรงหรือขัดขวาง หรือ ขัดจังหวะเป็นช่วงๆ ต่อการดำเนินกิจการต่างๆ ตามข้อบังคับวิทยุ

คำจำกัดความเรื่องการรบกวนอย่างรุนแรง เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนด และทำความเข้าใจให้ตรงกันถึงขนาดว่ามีระบุไว้ในตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาดิ พ.ศ. 2554 เลยทีเดียว แต่น่าแปลกว่าเรื่องสำคัญขนาดนนี้กลับไม่นำมาระบุในข้อกำหนดฉบับนี้ ซึ่งอาจทำให้นักวิทยุสมัครเล่นไม่ตระหนักถึงการรบกวนที่อาจเกิดขึ้นได้