Saturday, September 7, 2013

หมวด 3 พนักงานวิทยุสมัครเล่น

หมวด 3
พนักงานวิทยุสมัครเล่น

หมวดนี้ว่ากันด้วยเรื่องพนักงานวิทยุสมัครเล่น หลักๆ แล้วเป็นการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นและระดับขั้นของพนักงานวิทยุสมัครเล่น ซึ่งเป็นการรวมหมวดจากของเดิมที่กำหนดแยกเป็น 2 หมวด มาเป็นหมวดเดียวกัน

ว่ากันเรื่องแรกก่อน เรื่องของคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นมีการเพิ่มคำว่า "หรือเชื้อชาติไทย" เข้ามา

เก่า ใหม่
มีสัญชาติไทย สัญชาติไทย หรือเชื้อชาติไทย

ก็คงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่เป็นคนไทย แต่ได้โอนสัญชาติเป็นชาติอื่นแล้วมีโอกาสได้เป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นไทยได้

นอกเหนือจากการเพิ่มเชื้อชาติแล้ว ยังเพิ่มคุณสมบัติพิเศษอีก 1 ข้อคือ

"คุณสมบัติอื่นใดที่คณะกรรมการประกาศกำหนด"

เป็นการเปิดช่องให้ กสทช ได้มีโอกาสพิจารณากรณีอื่นๆ หากจำเป็นให้มีอำนาจในการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษได้อีกด้วย ซึ่งตอนนี้ยังนึกไม่ออกว่าจะมีกรณีอะไรบ้าง

และแน่นอนว่าต้องเขียนไว้อยู่แล้วคือจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่น หรือประกาศนียบัตรอื่นที่คณะกรรมการเห็นว่าเทียบเท่ากัน

เรื่องถัดมาที่อยู่ในหมวดเดียวกันนี้คือเรื่องระดับขั้นของพนักงานวิทยุสมัครเล่น ในเรื่องนี้ไม่มีอะไรใหม่ เพราะยังคงไว้มี 3 ระดับเหมือนเดิม แต่จุดสังเกตที่เห็นได้คือใช้คำเรียกไม่เหมือนเดิมแล้ว มาดูกันว่าเรียกต่างกันอย่างไร

เก่า ใหม่
พนักงานวิทยุสมัครเล่นแบ่งออกเป็น 3 ประเภท พนักงานวิทยุสมัครเล่นแบ่งออกเป็นสามระดับ

เห็นมั้ยครับว่าใช้คำเรียกไม่เหมือนเดิม จาก "ประเภท" เป็น "ระดับ"

โดยสรุปใจความก็ไม่เปลี่ยนไป เพราะยังคงมีระดับ หรือประเภท เท่าเดิมไม่ได้เพิ่มขึ้น หรือลดลง

ประเด็นถัดมาที่พบก็คือเรื่องของการได้มาซึ่งประกาศนียบัตร ลองเทียบดูก่อนตามนี้

เก่า ใหม่
ผู้ที่ประสงค์จะเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นประเภทต่าง ๆ จะต้องได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นประเภทนั้น ๆ หรือได้รับประกาศนียบัตรที่คณะกรรมการเทียบเท่า สำหรับผู้ที่ประสงค์จะได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางจะต้องได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นก่อน และผู้ที่ประสงค์จะได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นสูงจะต้องได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นและขั้นกลางแล้ว ผู้ที่ประสงค์จะเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้น ต่างๆ จะต้องได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นนั้นๆ หรือได้รับประกาศนียบัตรที่คณะกรรมการเทียบเท่า โดยมีรูปแบบของประกาศนียบัตรเป็นไปตามที่คณะกรรมการกำหนดไว้ในภาคผนวก 1

เมื่อเทียบกันแล้วเหมือนมีการปลดล๊อคเรื่องของลำดับของประกาศนียบัตรออกไป ซึ่งเดิมจะได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นที่สูงขึ้นไป จะต้องได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นก่อนหน้าได้ก่อนแล้ว ซึ่งถ้าการดำเนินการตามที่เขียนไว้เดิมจะต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร เพราะกว่าจะสอบ กว่าจะประกาศผล กว่าจะได้รับใบประกาศนียบัตร ก็อาจใช้ระยะเวลาราว 1-2 เดือน ถึงจะไปสอบเลื่อนขั้นในระดับต่อไปได้ แต่สำหรับของใหม่ไม่มีข้อกำหนด หรือข้อความที่เขียนไว้แบบเดิมแล้วนั้นก็หมายความว่ามีโอกาสเป็นไปได้ว่าจะจัดให้มีการสอบแบบรวดเดียว 3 ระดับในครั้งเดียว ไม่ต้องรอรับใบประกาศนียบัตรอีกต่อไปแล้ว แต่ก็ยังไม่แน่ใจว่าในการปฏิบัติจริงนั้นจะสามารถทำได้หรือไม่ คงต้องไปดูเรื่องของหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสอบว่ามีช่องทางใดทำได้บ้าง

แบบนี้ก็จะเป็นผลดีกับผู้ที่เตรียมตัวมาอย่างดี มีความรู้ มีความสามารถ ที่จะสอบผ่านหลายระดับในคราวเดียว หรือาจรวดเดียว 3 ระดับในวันเดียวก็เป็นได้ ภาษาฝรั่งก็เรียกว่า "Three in a row" ถ้าเป็นการสอบของสหรัฐอเมริกา เราก็อาจเรียกได้ว่า "One Day Extra" หรือเป็นนักวิทยุสมัครเล่นขั้นสูงสุด "Amateur Extra" ภายในวันเดียว

ขออนุญาตใช้คำพี่โน๊ตหน่อยแล้วกัน ณ จุดๆ นี้ จุดที่ของใหม่เขียนไว้ว่า "ขั้น" คงต้องขอปรับแก้ไปใช้คำว่า "ระดับ" เพื่อให้สอดคล้องกับคำใหม่ที่นำมาใช้ ดังที่ได้ชี้ให้เห็นไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

และที่ขาดเสียมิได้เลยคือ กสทช ขอสงวนสิทธิในการมอบประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นให้กับใครก็ได้ที่เห็นว่าเหมาะสม แต่ก็มีจุดสังเกตอีกเช่นกันในข้อนี้ เดิมเขียนไว้แต่เพียงว่าจะให้เฉพาะประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นเท่านั้น แต่ของใหม่ไม่ได้กำหนดอีกต่อไป นั่นก็หมายความว่าจะออกระดับไหนก็ได้หมดทุกระดับ ขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นสูง แจกได้หมด

สุดท้าย แต่ไม่ท้ายสุด เรื่องของการเทียบประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่น อันนี้ก็นับว่าเป็นข่าวที่น่ายินดี และชื่นใจ ของผู้ที่มีใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นของต่างประเทศ ได้มีข้อกำหนดที่ชัดเจนออกมาแล้วว่าต้องทำอย่างไร แล้วใครบ้างที่จะมีสิทธิมาเทียบ และที่ว่าเป็นข่าวดีก็คือ ผู้มีสัญชาติไทย หรือเชื้อชาติไทย ก็สามารถเทียบได้นะคร๊าบ สำหรับรายละเอียดเรื่องนี้ไว้ถึงภาคผนวก 4 แล้วค่อยว่ากันอีกรอบ


No comments:

Post a Comment