Sunday, December 27, 2015

เข้าใจ CTCSS หรือ โทนสเควแบบง่าย ๆ

เมื่อได้ยินคำว่า CTCSS หลายคนงงว่ามันคืออะไร เกี่ยวข้องกับวิทยุสมัครเล่นยังไง ลองมาทำความเข้าใจกันดู ว่าแท้จริง CTCSS คืออะไร เอาไว้ทำอะไร มีประโยชน์อย่างไร

CTCSS นั้นเป็นคำย่อจากคำเต็มว่า Continuous Tone-Coded Squelch System บางคนเรียกสั้น ๆ ว่า Tone Squelch อ่านเป็นภาษาไทยว่า โทนสเคว หรือโทนโคด ถ้าอธิบายความหมายทางด้านเทคนิตตามคำเต็ม ๆ นั่นก็คือ ระบบสเควที่ทำงานด้วยโทน (ความถี่ต่ำ) ต่อเนื่อง อ่านคำแปลแล้วก็ยังงงอยู่ดี อธิบายใหม่แบบบ้าน ๆ แล้วกันว่า เป็นระบบที่ภาครับของเครื่องวิทยุจะเปิดการทำงานด้วยโทนความถี่ต่ำที่ถูกส่งมาอย่างต่อเนื่องจากเครื่องส่ง โทนความถี่ต่ำนี้เป็นความถี่ที่หูคนเราไม่ได้ยิน แต่วิทยุสามารถแยกแยะได้ด้วยวงจรอิเล็คทรอนิกส์

ความถี่ของ CTCSS มาตรฐาน มีดังนี้


ความถี่ CTCSS มีหน่วยเป็น Hz จะเห็นว่ามีหลายความถี่มาก แต่ที่แนะนำให้ใช้คือความถี่ (A) - (I)

67.0 (A)
71.9 (B)
77.0 (C)
82.5 (D)
88.5 (E)
94.8 (F)
103.5 (G)
110.9 (H)
118.8 (I)



การนำ CTCSS มาประยุกต์ใช้นั้นทำได้หลายรูปแบบ วิธีง่ายสุดคือ การกำหนดให้ภาครับของเครื่องรับเปิดรับสัญญาณหากได้รับ CTCSS Tone ที่กำหนดไว้เท่านั้น เช่น

ภาครับของสถานีทวนสัญญาณกำหนดว่าให้รับสัญญาณเฉพาะสัญญาณที่รับเข้ามาแล้วมี Tone 67.0 Hz (A) ส่งมาด้วยเท่านั้น ถ้าไม่มี Tone 67.0 Hz ส่งมา หรือ Tone ความถี่อื่น ภาครับก็จะไม่เปิดรับสัญญาณที่ส่งมานั่นเอง

การใช้ CTCSS ในลักษณะนี้อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ด้วยการเปรียบเทียบกับ แม่กุญแจ และลูกกุญแจ ภาครับนั่นถูกล็อคด้วยแม่กุญแจไว้ เวลาจะใช้งานจะต้องไขกุญแจให้ถูกต้องถึงจะใช้งานได้ ซึ่งในวิทยุนั้นจะมีลูกกุญแจอยู่แล้วหลายดอก ที่ติดมากับตัวเครื่องจากโรงงาน เป็นมาตรฐานเหมือนกันหมด เพียงแต่เลือกใช้ลูกกุญแจให้ตรงกับแม่กุญแจที่กำหนดไว้เท่านั้น เราก็จะเปิดใช้งานได้

การใช้ CTCSS นั้นมิได้เป็นการปิดกั้นการใช้งาน หรือใช้งานเฉพาะกลุ่มแต่อย่างใต ในเครื่องวิทยุของเราทุกเครื่องที่ใช้งานอยู่ จะมีทั้งแม่กุญแจ และลูกกุญแจมาตรฐาน (CTCSS มาตรฐาน) มาในตัวเครื่องจากโรงงานทุกเครื่อง นักวิทยุสมัครเล่นทุกคนสามารถเลือกใช้ได้ทันทีที่ต้องการ การใช้รหัสหรือการใช้ Code นอกเหนือจากที่นักวิทยุสมัครเล่นทั่วไปส่วนใหญ่ ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย นั่นคือการปิดกัน แต่ระบบ CTCSS นั้นเป็นระบบที่มีมาในเครื่องวิทยุทุกเครื่อง เป็นระบบเปิด จึงไม่ได้เป็นการปิดกันไม่ให้ใช้งาน

การนำ CTCSS มาใช้งานมีข้อดีอย่างไร?
การใช้ CTCSS นั้นมีข้อดีมากกว่าไม่ใช้ เพราะช่วยให้ป้องกันสัญญาณไม่พึงประสงค์จาก QRN หรือ Noise แม้กระทั้ง QRM จากการรบกวนที่ไม่ได้ตั้งใจไม่ให้เปิดภาครับของสถานีวิทยุที่ใช้ CTCSS ได้ ลดปัญหาการรบกวนไปได้อย่างสิ้นเชิง

ตัวอย่างการใช้งาน CTCSS

สถานีทวนสัญญาณ 2 แห่งใช้งานความถี่ภาครับเดียวกัน ความถี่ 145.025 MHz ภาครับของสถานีทวนสัญญาณตัวที่ 1 เปิดด้วยการใช้ CTCSS 67.0 Hz (A) และภาครับของสถานีทวนสัญญาณตัวที่ 2 เปิดด้วยการใช้ CTCSS 71.9 Hz (B) ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ว่าต้องการใช้งานสถานีทวนสัญญาณตัวไหนโดยกำหนด CTCSS ให้ตรงกับภาครับของสถานีทวนสัญญาณตัวนั้น เช่น ต้องการใช้สถานีทวนสัญญาณตัวที่ 1 ก็กำหนดให้เครืื่องส่ง Tone 67.0 Hz (A) ออกไป ทำให้ภาครับของสถานีทวนสัญญาณตัวที่ 1 เปิดทำงาน ในขณะที่ภาครับสถานีทวนสัญญาณตัวที่ 2 จะไม่เปิดรับสัญญาณที่ส่งไป เพราะมี Tone ไม่ตรง

การประยุกต์ใช้ CTCSS ยังทำได้มากมายหลายวิธี เช่น สถานีทวนสัญญาณ 1 สถานีสามารถมีภาครับได้มากกว่า 1 ชุดกระจายอยู่ทั่วจังหวัด เป็นตั้น แต่ระบบจะมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นไปอีก



วิธีการเปิดใช้งาน DTMF ของ EchoLink

สำหรับสถานีเชื่อมโยงผ่านโครงข่ายอื่นด้วยโปรแกรม EchoLink สามารถเปิดใช้งานระบบ DTMF ด้วยวิธีการดังต่อไปนี
1. เข้าไปที่ Menu -> Tools
2. เลือก Sysop Settings...
3. เลือก Tab : DTMF จะได้หน้าจอดังภาพ



4. เลือกในช่อง DTMF Decoded ไปที่ Internal
5. เลือกที่ Auto Mute เพื่อไม่ให้เสียง DTMF ที่มีผู้ใช้งานทางความถี่เข้าไปรบกวนผู้ใช้งานอื่นในอินเทอร์เน็ต หรือในห้องสนทนา (Conference)
6. กดปุ่ม Reset to Defaults
7. กดปุ่ม OK

เพียงเท่านี้สถานี Link ก็เปิดใช้งานระบบ DTMF เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้ผู้ใช้งานทางความถี่วิทยุุสามารถควบคุมสั่งการสถานี Link ได้อย่างอิสระ

คำสั่งที่เป็นมาตรฐาน แนะนำให้ใช้เหมือนกันทุกสถานี

  • กดหมายเลขโหนดปลายทาง (Node number) เป็นการเชื่อมต่อ (Connect) ไปยังสถานีปลายทางตามหมายเลขโหนดที่กด
  • กดเครื่องหมาย # เป็นการยกเลิกการเชื่อมต่อ (Disconnect)
  • กดเครื่องหมาย * เป็นการให้สถานี link ส่งเสียงข้อมูลของสถานี (Information)
  • กดหมายเลข 08 เป็นการสอบถามสถานะของสถานีว่าเชื่อมต่ออยู่กับที่ใด หรือสัญญาณเรียกขานใด

ทำไมสถานีเชื่อมโยงผ่านโครงข่ายอื่นต้องเปิดให้ใช้งาน DTMF!!!



ประเทศไทยเรามีการใช้งานสถานีเชื่อมโยงผ่านโครงข่ายอื่น โดยผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในระบบอนาล็อค โปรแกรมที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากได้แก่ โปรแกรม EchoLink  นับตั้งแต่มีการอนุญาตให้ใช้งานครั้งแรก มีจำนวนสถานี Link ไม่มาก มีผู้ใช้งานจำกัด ทุกสถานี Link เปิดใช้งาน DTMF ให้ผู้ใช้งานทางความถี่วิทยุสามารถใช้สถานี Link ไปเชื่อมโยงกับสถานีปลายทางต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสิบกว่าปี รูปแบบการใช้งานได้เปลี่ยนไป มีจำนวนสถานี Link เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับจำนวนผู้ใช้งานที่มากขึ้น มีห้องสนทนา (Conference) ที่หลากหลายให้ได้เข้าไปจับกลุ่มคุย แต่สิ่งที่หายไปคือ การไม่เปิดให้ผู้ใช้งานทางความถี่วิทยุได้สามารถควบคุมสั่งการสถานี Link ผ่าน DTMF ได้อีกต่อไป

อาจจะลืมไปว่าเหตุใดเราจึงตั้งสถานี Link ขึ้น ดังนั้นจึงขอทบทวนว่า ทำไมเราถึงต้องมีสถานี Link ในพื้นที่นั้น ๆ

" วัตถุประสงค์ของสถานี Link คือ ขยายขีดความสามารถของสถานีในรถยนต์ หรือสถานีประจำที่ขนาดเล็ก ที่ติดต่อได้ระยะทางกำกัด ให้สามารถติดต่อสื่อสารได้กว้างไกลขึ้น โดยอาศัยประสิทธิภาพของโครงข่ายอื่น เช่น อินเทอร์เน็ต "

วัตถุประสงค์หลัก คือให้บริการหรือให้ความช่วยเหลือกับผู้ใช้งานทางความถี่วิทยุเป็นสำคัญ เมื่อใครก็ตามที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานี Link จึงต้องยึดในวัตถุประสงค์นี้เป็นหัวใจสำคัญ ว่าจะทำอย่างไรให้สถานี Link นั้นให้บริการกับผู้ใช้งานผ่านทางความถี่ได้ดีที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด

หากไม่เปิดให้ใช้งาน DTMF ก็เท่ากับว่าไม่เปิดให้ใช้สถานี Link นั้น ๆ กับผู้ใช้งานทางความถี่วิทยุได้ใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันพบว่าสถานี Link เชื่อมต่อกับห้องสนทนา (Conference) ตลอดเวลา ทำให้ผู้ใช้งานทางความถี่ไม่สามารถใช้ Link เพื่อติดต่อสื่อสารกับสถานีอื่น ๆ ที่อยู่นอกห้องสนทนาที่ Link นั้นอยู่ได้ ทำได้เพียงติดต่อสื่อสารกับผู้ที่อยู่ในห้องสนทนา (Conference) ที่ Link อยู่ประจำเท่านั้น

ผู้ที่เปิดบริการสถานี Link ที่ทำแบบนั้น ได้ทำผิดข้อห้ามสำหรับกิจการวิทยุสมัครเล่น ตามประกาศ กสทช ว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่น ข้อที่ 9 โดยไม่รู้ตัว ซึ่งข้อห้ามข้อนี้ระบุว่า ห้ามใช้ช่องสัญญาณในลักษณะยึดถือครอบครองเฉพาะกลุ่มบุคคล



ขยายความให้ชัดเจนขึ้นอีกนิดสำหรับข้อห้ามนี้ ที่บอกว่ายึดถือครอบครองเฉพาะกลุ่มบุคคล นั่นคือความถี่จะถูกใช้งานสำหรับกลุ่ม ชมรม หรือห้องสนทนา (Conference) ใด ๆ เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ไม่สามารถใช้ติดต่อสื่อสารกับกลุ่มอื่น ๆ ได้อีก ในกรณีการนำสถานี Link ไปอยู่ที่ห้องสนทนาใด ๆ เป็นการถาวร จึงเข้าข่ายยึดถือครอบครองเฉพาะห้องสนทนา (Conference)

ถึงแม้ว่า Link ที่อยู่ประจำห้องสนทนานั้นเปิดเสรี อิสระ นักวิทยุสมัครเล่นทั่วไปสามารถใช้ได้ ไม่ได้มีการห้ามใช้ แต่การมาใช้งาน Link ของนักวิทยุสมัครเล่นคนนั้น ก็ทำได้เพียงใช้พูดคุยกับผู้ที่อยู่ในห้องสนทนาที่ Link นั้นอยู่เท่านั้น เท่ากับว่า Link นี่ถูกใช้งานอยู่ในห้องสนทนาในกลุ่มเดียว ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นความผิดข้อห้ามตามประกาศ เพราะสามารถใช้ Link ติดต่อได้กับห้องสนทนาเดียวเท่านั้น

ลองดูตัวอย่างเปรียบเทียบต่อไปนี้

มีชมรมนักวิทยุสมัครเล่นกลุ่มหนึ่ง ใช้ความถี่ช่องหนึ่งพูดคุยสื่อสารกันในกลุ่มเป็นประจำ และเมื่อมีนักวิทยุสมัครเล่นนอกกลุ่มเข้ามาพูดคุยในช่องความถี่นั้น สมาชิกในชมรมก็จะขึ้นมาพูดคุยติดต่อ สื่อสารด้วยดี ไม่มีปัญหาอะไร และวันดีคืนดีมีนักวิทยุสมัครเล่น 2 คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของชมรมขึ้นมาพูดคุย และใช้ความถี่ช่องที่ชมรมใช้เป็นประจำ แล้วสมาชิกของชมรมก็ขึ้นมาบอกว่าช่องความถี่นี้เป็นของชมรมเขา ถ้าจะขึ้นมาคุยต้องพูดคุยกับสมาชิกในชมรมเท่านั้น ใช้พูดคุยกับชมรมอื่นหรือกลุ่มบุคคลอื่นไม่ได้

ถ้าเราพิจารณาตัวอย่างนี้แล้วมีความเห็นว่าการกระทำแบบนี้เป็นการยึดถือครอบครองเฉพาะกลุ่ม มีความผิดตามข้อห้ามในประกาศ ดังนั้นการนำสถานี Link ไว้ในห้องสนทนา (Conference) โดยที่ผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ไม่สามารถใช้งานความถี่นั้น เพื่อการติดต่อสื่อสารกับห้องสนทนาอื่น ๆ หรือสถานีอื่น ๆ ได้ก็มีความผิดตามข้อห้ามในประกาศนี้เช่นเดียวกัน

ทางออกของการไม่เป็นผู้กระทำผิดโดยไม่รู้ตัวนี้คืออะไร?

ทางออกของเรื่องนี้ก็ง่ายนิดเดียวเพียงเปิดโอกาศให้ผู้ใช้งานสถานี Link ผ่านความถี่วิทยุ สามารถใช้สถานี Link พูดคุยกับใครก็ได้ที่ต้องการ ไม่ได้ใช้เพื่อติดต่อสื่อสารเฉพาะกลุ่ม หรือเฉพาะห้องสนทนา (Conference) เพียงเท่านั้น ก็เป็นการไม่ผิดขัอห้ามดังกล่าวแล้ว ซึ่งโปรแกรมที่ใช้จะมีความสามารถให้ควบคุมสั่งการผ่าน DTMF ได้ทั้งหมด

ทั้งนี้สถานี Link ยังคงสามารถอยู่ประจำห้องสนทนา (Conference) ที่ประสงค์ได้ตามเดิม เพียงแต่เปิดการใช้งาน DTMF เพิ่มเติม และกำหนดให้สถานี Link กลับไปในห้องสนทนาที่ต้องการภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่มีผู้ใช้งานผ่านทางความถี่วิทยุแล้ว (ระยะเวลาที่เหมาะสมไม่ควรต่ำกว่า 5 นาที)

เราสามารถเปิดให้บริการสถานี Link ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่กลายเป็นผู้กระทำความผิดโดยไม่ตั้งใจ และด้วยขณะนี้ประกาศฉบับปัจจุบันกำหนดให้สถานีเชื่อมโยงผ่านโครงข่ายอื่นต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช ซึ่งแน่นอนว่าถ้าสถานีที่เข้าข่ายกระทำผิดตามข้อห้ามดังกล่าวก็จะไม่ได้รับการพิจารณาให้ตั้งสถานีเชื่อมโยงผ่านโครงข่ายอื่นได้

ผู้ที่ให้บริการสถานี Link เป็นผู้ที่เสียสละทั้งทุนทรัพย์ส่วนตัว เวลา มากมาย นักวิทยุสมัครเล่นที่ใช้งานสถานี Link รู้สึกขอบคุณและชื่นชมในความเสียสละของผู้ที่ให้บริการเหล่านี้ แต่การเสียสละนั้นอยู่บนความถี่ที่เป็นสาธารณะที่นักวิทยุสมัครเล่นทุกคนมีสิทธิที่จะได้ใช้งานอย่างอิสระ เพียงเปลี่ยนจากการเสียสละเพื่อกลุ่ม เพื่อชมรม มาเป็นเสียสละเพื่อประโยชน์สาธารณะของนักวิทยุสมัครเล่นทุกคนอย่างแท้จริง

บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีการเปิดใช้งาน DTMF ของ EchoLink

Monday, November 23, 2015

การสอบเพื่อรับใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นประเทศสหรัฐอเมริกา (US Amateur Radio Examination)

ความเป็นมาของการสอบวิทยุสมัครเล่นสหรัฐอเมริกา

การสอบวิทยุสมัครเล่นของ US ก่อนปี 1980 คล้ายกับประเทศไทยปัจจุบันคือทีมงาน FCC ได้จับสอบขึ้นเองที่ส่วนกลาง หรือบางครั้งก็ไปจัดขึ้นตามรัฐต่างๆ ทั่วประเทศ แต่เมื่อ FCC ถูกตัดงบประมาณเกี่ยวกับการจัดสอบวิทยุสมัครเล่น ส่งผลให้ไม่มีการสอบนักวิทยุสมัครเล่นเกิดขึ้นอยู่หลายปี ทำให้นักวิทยุสมัครเล่นต้องจัดการสอบกันขึ้นมาเอง โดยสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งสหรัฐอเมริกา (ARRL) เป็นผู้ร่างระเบียบร่วมกับคณะทำงานของ FCC และชื่อว่า “Volunteer Examiner Program หรือ โครงการอาสาสมัครจัดสอบ (VE)” ซึ่งต่อมารัฐบาลโดย FCC ก็อนุญาตให้ดำเนินการได้โดยการกำหนดให้มีหน่วยงานประสานงานระหว่าง FCC และ VE เรียกว่า Volunteer Examiner Coordinators (VECs) โดยเริ่มการสอบในระบบ VE ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 1984 ปัจจุบันมีผู้ที่เป็นอาสาสมัครจัดสอบ (VE) ของ ARRL แล้วกว่า 50,000 คน และมีการจัดสอบมาแล้วกว่า 1.25 ล้านคน จากการจัดสอบกว่า 90,000 ครั้ง


" การสอบเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นของสหรัฐอเมริกานั้น เป็นระบบที่จัดการกันเองผ่านองค์กรวิทยุสมัครเล่นไม่ได้จัดการสอบโดยภาครัฐ แต่ทำโดยอาศัยตัวแทนที่ได้รับการรับรองให้ทำหน้าที่จากองค์กรแล้วเรียกว่า VE โดยผู้ที่เป็น VE ที่มีใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นที่สูงกว่าสามารถจัดการและควบคุมการสอบให้กับผู้ที่ต้องการสอบในขั้นที่รองลงมา "


Volunteer Examiner Coordinators (VECs)

VEC คือองค์กรที่ FCC รับรองให้เป็นผู้ประสานงานเกี่ยวกับการจัดสอบวิทยุสมัครเล่นได้ โดยต้องประสานงานกับ VE เพื่อจัดเตรียม และบริหารการจัดสอบ ซึ่ง VEC นั้นจะเป็นผู้รวบรวมใบสมัคร และผลสอบของผู้เข้าสอบทุกคนที่ได้รับจาก VE รวมถึงทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับมา และแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในการสอบแต่ละครั้งด้วย จากนั้น VEC จะส่งข้อมูลในต่างๆ ให้กับ FCC ในรูปแบบอิเล็คทรอนิกส์เพื่อออกใบอนุญาตต่อไป ซึ่ง VEC ต้องเก็บข้อมูลของผู้เข้าสอบทั้งหมดไว้ไม่ต่ำกว่า 15 เดือน และต้องส่งข้อมูลให้ FCC ตรวจสอบได้กรณีมีการร้องขอ
FCC สงวนสิทธ์ที่จะจัดการสอบขึ้นมาเองได้ หรือให้มีการสอบใหม่ หากมีข้อสงสัยจากการจัดสอบของ VE รวมไปถึงยกเลิกใบอนุญาตหากผู้เข้าสอบไม่ผ่านการสอบใหม่ โดยผู้เข้าสอบต้องยอมรับผลโดยปราศจากข้อร้องเรียนใดๆ
คุณสมบัติของ VEC มีดังนี้
1. เป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการวิทยุสมัครเล่นเท่านั้น
2. ต้องสามารถให้บริการได้อย่างน้อยในเขตพื้นที่ที่ FCC กำหนด
3. ต้องจัดการสอบให้กับทุกระดับขั้นใบอนุญาต
4. ต้องจัดการสอบและประสานงานกับ VE ทุกคน โดยไม่จำกัดเชื่อชาติ เพศ ศาสนา เป็นหรือไม่เป็นสมาชิกขององค์กร

ปัจจุบันมี VEC ทั้งหมด 14 องค์กร โดย ARRL/VEC เป็นองค์กรที่ใหญ่ที่สุดมีสมาชิก VE มากกว่า 35,000 คน ทั่วประเทศ และในหลายๆ ประเทศทั่วโลก และยังคงมีจำนวน VE ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Volunteer Examiner (VE)

Volunteer Examiner (VE) คืออาสาสมัครจัดสอบ ที่ขึ้นตรงและต้องประสานงานกับ VEC เพื่อจัดสอบ เป็นผู้ซึ่งทำหน้าที่จัดการสอบ และคุมสอบ โดยข้อสอบจะถูกเตรียมโดย VE ที่ได้รับใบอนุญาตวิทยุสมัครเล่นขั้นสูงสุด (Amateur Extra) ซึ่งคัดมาจากคลังข้อสอบที่ได้รับการยอมรับแล้วเท่านั้น (Question Pool) ซึ่งทั้งหมดจะถูกกำหนดโดย VEC 

ในการสอบแต่ละครั้งจะต้องมี VE อย่างน้อย 3 คนเป็นผู้ควบคุมการสอบ หน้าที่ของ VE มีดังนี้ เมื่อ VE ได้แจ้งต่อ VEC ว่าจะมีการสอบ จากนั้น VEC จะจัดส่งวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการสอบอันได้แก่ ใบสมัครสอบ (NCVEC Form 605) และ CSCE (CSCE คือใบประกาศที่จะให้ไว้กับผู้ที่เข้าสอบที่ผ่านการสอบ เทียบได้กับใบประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่น) รวมไปถึงข้อสอบ กระดาษตอบ แผ่นตรวจข้อสอบ ใบสรุปผลการสอบ และเอกสารอื่นๆ ที่มีจำนวนเพียงพอต่อจำนวนผู้ที่จะเข้าสอบในแต่ละครั้ง

การสมัครเป็น VE

คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นอาสาสมัครจัดสอบ (VE) นั้น มีดังนี้
1. อายุ 18 ปีขึ้นไป
2. ไม่เคยถูกพักใช้ เพิกถอน ใบอนุญาตวิทยุสมัครเล่น
3. ต้องมีใบอนุญาตที่ไม่หมดอายุของนักวิทยุสมัครเล่นระดับ General, Advanced หรือ Extra

หากผู้ที่มีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ประการแล้วมีความประสงค์จะสมัครเป็น VE จะต้องทำขั้นตอนดังนี้
1. กรอกใบสมัคร และเซ็นต์ชื่อยอมรับข้อตกลง
2. สำเนาใบอนุญาตที่ไม่หมดอายุ
3. ทำข้อสอบสำหรับการเป็น VE ข้อสอบนี้เป็นแบบข้อเขียน ผู้สมัครต้องอ่านคู่มืออาสาสมัครจัดสอบ และนำมาเขียนตอบเป็นข้อๆ ส่งไปยัง VEC ซึ่งในคู่มือเล่มนี้จะอธิบายวิธีการ และขั้นตอน วิธีปฏิบัติงานทั้งหมดโดยละเอียด ซึ่งผู้สมัครเป็น VE ต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน จึงจะสามารถตอบข้อสอบนี้ได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ในระเบียบว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่นของ FCC ยังระบุข้อปฏิบัติและข้อห้ามของ VE ไว้ (Part 97.509 Administering VE requirements) ดังนี้ 
1. VE ผู้ดำเนินการควบคุมการสอบจะต้องอยู่และสังเกตการสอบอย่างต่อเนื่องจนจบการสอบ และจะต้องหยุดการสอบนครั้งนั้นทันทีหากพบว่าผู้เข้าสอบกระทำผิดหรือไม่เป็นไปตามข้อกำหนด
2. VE ต้องไม่จัดการสอบให้กับผู้ที่ญาดิของตน อันได้แก่ คู่สมรส บุตร บุตรบุญธรรม พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อบุญธรรม แม่บุญธรรม พี่ น้อง พี่บุญธรรม น้องบุญธรรม หลาน ลุง ป้า น้า อา หรือญาตตามกฏหมาย
3. VE ต้องไม่จัดการสอบโดยเพื่อการคดโกง หรือรับอามิสสินจ้าง หรือทำเพื่อต้องการรับเงินค่าจ้างวาน หากพบกระทำผิดมีบทลงโทษโดยการยกเลิกการเป็น VE และยกเลิกใบอนุญาตการเป็นนักวิทยุสมัครเล่น
4. ในการจัดการสอบต้องไม่ผ่อนปรน อนุโลมกับผู้เข้าสอบอย่างเด็ดขาด ต้องไม่ใช้ชุดคำถามเดิมกับผู้สอบคนเดิม หากมีการสอบใหม่

ค่าสมัครสอบและค่าใช้จ่ายในการจัดสอบ

VEC และ VE สามารถเรียกเก็บใช้จ่ายที่จ่ายไปตามจริง ที่เกี่ยวกับเฉพาะการจัดการสอบเท่านั้น และ FCC ยังอนุญาตให้ VEC เก็บค่าสมัครสอบได้ตามอัตราที่กำหนด (อาจเก็บหรือไม่เก็บก็ได้) ซึ่งหากตกลงว่าจะมีการเก็บค่าสมัครสอบ จะต้องเป็นอัตราเดียวกันกับทุกคน และทุกครั้งที่มีการจัดสอบภายในปีนั้นๆ อัตราค่าสมัครสอบของปี 2012 อยู่ที่ 15 USD สำหรับการสอบ 1 ครั้ง

Question Pool หรือคลังข้อสอบกลาง

VEC มีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อการจัดทำและปรับปรุงข้อสอบกลางให้มีความทันสมัย ซึ่งข้อสอบกลางจะเป็นข้อสอบเปิดเผย และแจกจ่ายให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่ง VEC จะจัดส่งตัวแทนมาทำงานร่วมกันเรียกว่า National Conference of VEC (NCVEC) Question Pool Committee หรือ QPC 
ทั้งยังเปิดโอกาสให้นักวิทยุสมัครเล่นได้มีส่วนร่วมโดยการส่งความเห็น ข้อคิดเห็น เพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นด้วย ซึ่งการปรับปรุงคลังข้อสอบกลางนั้นจัดทำใหม่ทุกๆ 4 ปี


หมวดต่าง ๆ ในหลักเกณฑ์การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่น ปี พ.ศ. 2557



ประกาศ กสทช เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่น ปี พ.ศ. 2557 แบ่งออกเป็น 11 หมวด ดังนี้
หมวด 1 บททั่วไป
หมวด 2 วัตถุประสงค์
หมวด 3 พนักงานวิทยุสมัครเล่น
หมวด 4 สถานีวิทยุสมัครเล่น
หมวด 5 คลื่นความถี่ เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์
หมวด 6 สัญญาณเรียกขาน (Call sign)
หมวด 7 การบันทึกข้อความการติดต่อสื่อสาร
หมวด 8 การปฏิบัติในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน
หมวด 9 ข้อห้ามสำหรับกิจการวิทยุสมัครเล่น
หมวด 10 คุณธรรม จริยธรรม และข้อพึงปฏิบัติของพนักงานวิทยุสมัครเล่น
หมวด 11 มาตรการกำกับดูแล
ท้ายสุด เป็นบทเฉพาะกาล

Tuesday, September 22, 2015

Vanity Call sign การเลือกรับสัญญาณเรียกขานวิทยุสมัครเล่น


ได้ทราบว่าเรากำลังจะมีแนวคิดว่าให้พนักงานวิทยุสมัครเล่นได้มีโอกาสเลือกสัญญาณเรียกขานที่ชอบ ที่สวยๆ ได้ตามต้องการ เลยนึกถึงว่าของสหรัฐอเมริกาก็มีระบบให้เลือกสัญญาณเรียกขานได้ตามใจชอบ ซึ่งระบบนี้ชื่อว่า Vanity Call Sign System

ไปดูจากแบบฟอร์มที่เกี่ยวข้องได้แก่ Form 605 ของ FCC จะมีส่วนที่กำหนดเกี่ยวกับการเปลี่ยนสัญญาณเรียกขานได้โดยมีเงื่อนไขถึง 6 แบบ ลองมาดูแต่ละแบบว่าเป็นอย่างไร

แบบ A มีข้อความเขียนว่า FORMER PRIMARY STATION HOLDER นั่นหมายถึงว่าเป็นกรณีที่สัญญาณเรียกขานนี้เคยเป็นของผู้ขอมาก่อน ซึ่งต้องมีหลักฐานมายืนยันความที่เคยเป็นเจ้าของมาก่อน สำหรับกรณีนี้มีความเป็นไปได้หลายกรณี เช่น เคยใช้สัญญาณเรียกขานนี้มาก่อน แล้วขาดต่อใบอนุญาตไปจนสัญญาณเรียกขานนั้นถูกยกเลิกไป และได้มีพนักงานวิทยุสมัครเล่นคนอื่นได้เลือกไปใช้ ซึ่งหากนักวิทยุสมัครเล่นผู้ที่นำสัญญาณรียกขานของคนเก่าไปใช้กำลังจะหมดอายุลง หรือเสียชีวิตไป ทาง FCC บอกให้สิทธิกับเจ้าของเดิมก่อนคนอื่นมาคว้ากลับไปได้ก่อน

ได้ยินมาว่าเรื่องแบบนี้กำลังจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย ว่าผู้ที่ถูกเพิกถอนสัญญาณเรียกขานไปหมาดๆ สามารถขอรับสัญญาณเรียกขานเก่าคืนได้ ซึ่งถ้าสัญญาณเรียกขานนั้นยังไม่ถูกนำไปกำหนดให้กับคนอื่น

แบบ B มีข้อความเขียนว่า CLOSE RELATIVE OF FORMER HOLDER สำหรับกรณีนี้ FCC ให้สิทธิผู้ที่เป็นญาติของเจ้าของสัญญาณเรียกขานที่เสียชีวิตไปสามารถใช้สัญญาณเรียกขานนั้นได้ก่อนคนอื่นจะมาคว้าเอาไปใช้ แต่ต้องนำไปใช้นะครับ ไม่ใช่เอาไปเก็บไว้ เป็นการกำหนดสัญญาณเรียกขานให้กับผู้ที่เป็นญาติมาขอไปใช้ เช่น HS1QRZ เป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นอยู่แล้ว แต่ผู้เป็นบิดามีสัญญาณเรียกขาน HS1QSO เสียชีวิตไป แล้ว HS1QRZ มีความประสงค์จะใช้ HS1QSO แทน HS1QRZ ซึ่งเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วจะต้องคืนสัญญาณเรียกขานเดิมกลับไปให้ผู้อื่นได้มีสิทธินำไปใช้ ไม่สามารถขอ 2 สัญญาณเรียกขานมาเก็บไว้เฉยๆ ได้

แบบ C มีข้อความว่า FORMER CLUB STATION HOLDER สำหรับกรณีนี้จะคล้ายกับแบบ A แต่เป็น Club Station

แบบ D เป็นแบบที่เจ้าของสัญญาณเรียกขานหรือผู้เป็นญาติ มีหนังสือเป็นทางการมอบหรือยินยอมให้ Club Station ได้ใช้สัญญาณเรียกขานของตนเองได้หลังจากที่เสียชีวิต

แบบ E และ แบบ F นั้น เป็นกรณีปกติที่ FCC จะให้เลือกสัญญาณเรียกขานที่ต้องการใช้มากที่สุด 25 สัญญาณเรียกขาน และจะกำหนดให้ตามลำดับแรกสุดก่อน หากยังไม่ได้กำหนดให้ผู้อื่นไปก่อนหน้า สาเหตุที่ต้องให้กำหนดมากถึง 25 สัญญาณเรียกขานนั้น เพราะในขณะที่ตรวจสอบว่าสัญญาณเรียกขานนั้นยังว่างอยู่แต่อาจมีความเป็นไปได้ว่ามีคนอื่นก็ได้ยื่นขอใช้สัญญาณเรียกขานเดียวกันมาพร้อมกัน ซึ่งทาง FCC ก็จะดูว่าใครส่งแบบฟอร์มมาขอก่อนก็จะให้ก่อนตามเงื่อนไข

ตามกฎของ FCC บอกไว้ว่าสัญญาณเรียกขานของผู้ใดที่ถูกยกเลิกหรือเสียชีวิตไปแล้ว สัญญาณเรียกขานจะถูกเก็บไว้เป็นเวลา 2 ปีโดยไม่ถูกนำไปกำหนดให้กับผู้ใด ยกเว้นกรณี A-D ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว


Wednesday, July 29, 2015

การใช้ Web Chat เพื่อช่วยการติดต่อของนักวิทยุสมัครเล่น

นักวิทยุสมัครเล่นที่นิยมชมชอบการติดต่อสื่อสารทางไกล มักจะเปิดเครื่องวิทยุแล้วเลือกความถี่ว่างๆ สักความถี่นึงแล้วกดคีย์เรียก "CQ DX" โดยหวังว่าจะมีการตอบกลับจากสถานีที่อยู่ไกลๆ โดยไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าจะมีใครตอบกลับมาหรือไม่ การติดต่อ DX แบบนี้เป็นการติดต่อแบบไม่มีการนัดหมายล่วงหน้ามาก่อน เป็นการสุ่มโดยอาศัยดวงอย่างเดียว ซึ่งมักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากเท่าไรนัก แต่ก็มีความสนุกตรงที่ได้เรียก "CQ DX" นี่แหละ และเพื่อเพิ่มโอกาสของความสำเร็จในการติดต่อกับสถานีไกลๆ ได้นั้น ก็จะมีวิธีการที่ง่ายที่สุดคือการนัดหมายวัน เวลา ความถี่และ Mode กันไว้ล่วงหน้าระหว่างสถานีต้นทางและปลายทาง แบบนี้เราจะเรียกว่าการติดต่อสื่อสารแบบ "Schedule" เรียกสั้นๆ ว่า "Sked" อ่านเป็นภาษาไทยว่า "สเก็ต" ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะใช้เครื่องมืออะไรในการนัดหมายล่วงหน้า ถ้าเป็นสมัยก่อนๆ ก็จะใช้จดหมาย ไปรษณียบัตร มาในยุคใหม่หน่อยก็ใช้อีเมลล์ สำหรับในปัจจุบันเรามีอินเทอร์เน็ตที่ทันสมัย มีเครื่องมือช่วยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น facebook LINE หรือโปรแกรม Chat ต่างๆ แต่ที่จะมาแนะนำในบทความนี้ก็คือการใช้ Web Chat

นักวิทยุสมัครเล่นมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยอยู่ตลอดเวลาเป็นอย่างดี ปัจจุบันเรามี Internet ความเร็วสูงมาก สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทั้งผ่านสายและไม่ผ่านสาย WiFi จะ 3G หรือ 4G เข้าถึงได้เกือบทุกซอกมุม จึงมีนักวิทยุได้สร้างเครื่องมือที่ชื่อว่า Web Chat ขึ้นมาเพื่อทำให้การนัดหมายของนักวิทยุสมัครเล่นทำได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วขึ้น



Web Chat บางครั้งนักวิทยุสมัครเล่นเราจะเรียกว่า "Logger" หรือ "Web Logger" แต่ไม่มีหน้าที่ในการบันทึก Log เหมือน Log book แต่เป็น Web ที่สร้างขึ้นเพื่อให้นักวิทยุสมัครเล่นเข้ามาพูดคุย และเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร รวบไปถึงนัด Sked กันที่ Chat ได้เลย Chat ที่เป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันที่หนึ่งคือ ON4KST Chat การเข้าใช้งานต้องเข้าไปที่ http://www.on4kst.com/chat/ ซึ่งการเข้าใช้งานได้นั้นจำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิกของระบบเสียก่อน สามารถสมัครได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ที่ ON4KST Chat นั้นจะแยกเป็นห้องคุยต่างๆ หลายห้อง ตามแต่ความสนใจของแต่ละคน ตามลักษณะประเภคของการติดต่อที่แตกต่างกัน เพื่อลดความแออัดในที่เดียวกัน เช่นห้องคุยเรื่อง 144MHz ห้องคุยเรื่อง 50MHz เป็นต้น ซึ่งบางหัวข้อจะมีการแบ่งออกเป็นภูมิภาคตาม ITU อีกก็มี แต่การเข้าพูดคุยที่ ON4KST Chat นั้นจะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการคุยเท่านั้น เนื่องจากเป็นการใช้งานร่วมกันทั้งโลก ถ้าแต่ละคนไปใช้ภาษาท้องถิ่นก็จะเกิดการสับสนได้ จึงเหมาะที่จะเข้าไปหา Sked กับต่างประเทศ สำหรับคนที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี



สำหรับประเทศไทย ในการนัด Sked ไม่ว่าจะ Mode ใดๆ เช่น 144MHz ทั้ง FM SSB CW หรือจะ Digital Mode อื่นๆ การจะไปใช้ที่ ON4KST Chat อาจไม่สะดวกเพราะบางครั้งเราก็ต้องการใช้ภาษาไทย ติดต่อกันเอง ทางสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยจึงได้จัดทำ Web Chat ลักษณะคล้ายๆกันขึ้นมา ที่ http://forum.rast.or.th/chat และเปิดให้ใช้งานกับนักวิทยุสมัครเล่นทั่วไปได้เข้าใช้งาน การใช้งานก็เพียงแต่สมัครเป็นสมาชิกของ RAST Forum ก่อนเท่านั้นด้วยสัญญาณเรียกขาน

เมื่อรู้อย่างนี้แล้วจะมัวเรียก CQ แล้วไม่มีคนตอบอยู่ทำไม ทุกครั้งที่เราอยู่หน้าเครื่องวิทยุเราก็เข้ามาที่ Chat แล้วบอกเพื่อนว่าตอนนี้เรากำลัง CQ อยู่ที่ความถี่ใด หรือเข้ามานัดกันใน Chat ดีกว่า ไม่จำเป็นต้องเข้ามานัด Sked กันอย่างเดียว แต่เข้ามาคุยกัน ทักทายกันกับเพื่อนๆ ก็ได้ เพราะบางครั้งท่านที่อยู่ต่างจังหวัดไกลๆ จะหาคนคุยด้วยทางวิทยุก็ลำบากเหลือเกิน

73 Joe
HS2JFW

ข้อดีของการให้ลูกเรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพขนาดเล็ก

ภาพจาก Youtube ข่าว Thai PBS : https://www.youtube.com/watch?v=mFB4Wp6o0Zs


คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเป็นพ่อ-แม่ ย่อมต้องการให้ลูกเรียนโรงเรียนดีๆ ด้วยเหตุผลร้อยแปด และส่วนมากก็จะมองไปที่โรงเรียนชื่อดังขนาดใหญ่ มีนักเรียนเป็นพันๆ คน ก็เลยมองข้ามโรงเรียนดีๆ ขนาดกลางถึงเล็กไป ซึ่งการเป็นโรงเรียนไม่ใหญ่มากนั้น มีนักเรียนจำนวนไม่มาก ไม่ถึงพันคน ก็มีข้อดีที่ตรงข้ามกับโรงเรียนขนาดใหญ่อยู่หลายเรื่องด้วกัน

1. นักเรียนต่อห้องมีจำนวนไม่มาก ประมาณ 20-25 คนเท่านั้น รวมไปถึงจำนวนครูประจำชั้น 2-3 คนต่อห้อง ซึ่งอัตราส่วนแบบนี้หาไม่ได้ในโรงเรียนขนาดใหญ่ ซึ่งจำนวนเด็กต่อครู แบบนี้ทำให้ครูสามารถเอาใจใส่เรื่องการเรียน การเล่น การทำกิจกรรมต่างๆ ของเด็กได้ทั่วถึง ครูจะรู้จักเด็ก รู้พฤติกรรมเด็ก และสามารถจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนได้ดี

2. จากจำนวนเด็กไม่มาก ทำให้ผู้ปกครองที่มารับ-ส่ง จะรู้จักกันทั้งหมด ลูกใคร หลานใคร มีอะไรก็หยิบยึ่นช่วยเหลือ ส่งเสริมกิจกรรมของเด็กๆ ได้อีกทางหนึ่ง นอกจากผู้ปกครอง พ่อ แม่ จะรู้จักกันแล้ว ครูประจำชั้นก็จะรู้จักผู้ปกครองทุกคนเป็นอย่างดี สามารถรายงานพฤติกรรม ผลการเรียน การทำกิจกรรมต่างๆ ของลูกๆ ให็กับพ่อแม่ เพื่อให้โรงเรียนและพ่อแม่ ช่วยกันส่งเสริมให้เด็กๆ มีพัฒนาการในการเรียน ทั้งที่บ้าน และที่โรงเรียน

3. พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ที่จำเป็นต้องไปรับ-ส่ง ลูกๆ ที่โรงเรียนโดยรถยนต์ส่วนตัวจะไม่พบกับการจราจรที่ติดขัดหน้าโรงเรียน แบบโรงเรียนขนาดใหญ่ การมารับ-ส่ง เด็กๆ กลายเป็นเรื่องสบายๆ ใช้เวลาไม่นาน ไม่ต้องหัวเสียกับรถติดหน้าโรงเรียน

คำถามตามมาอีกข้อคือ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าโรงเรียนไหนมีคุณภาพ เรื่องนี้คนเป็นพ่อเป็นแม่คงต้องทำการบ้านเยอะหน่อย เข้าไปดู เข้าไปสังเกต และที่ขาดไม่ได้เลยคือผลการประเมินโรงเรียนจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ลองเข้าไปค้นดูครับว่าโรงเรียนที่ลูกเราเรียนอยู่นั้นมีผลการประเมินเป็นเช่นไร แล้วโรงเรียนอื่นๆ มีผลการประเมินเป็นเช่นไร ลองเปรียบเทียบกันดู

Friday, July 24, 2015

Call sign

ประเทภสถานีวิทยุสมัครเล่น
สัญญาณเรียกขาน
สถานีวิทยุสมัครเล่นประเภทบุคคล
   พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น
HS#Baaa – HS#Bzzz และ E2#Baaa - E2#Bzzz
   พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลาง
HS#aaa – HS#zzz และ E2#aaa - E2#zzz (ยกเว้น HS0Zaa - HS0Zzz)
   พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นสูง
HS#Ba – HS#zz และ E2#Ba - E2#zz
   พนักงานวิทยุสมัครเล่นภายใต้ 
   Reciprocal   Agreement
HS0Zaa - HS0Zzz และ HS/homecall
สถานีวิทยุสมัครเล่นประเภทพิเศษ
   สถานีวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่าย
HS#Aa – HS#Az (# = 1-9 ยกเว้น 0)
   สถานี Club Station ขั้นต้น
E2#Aa - E2#Az (# = 1-9 ยกเว้น 0)
   สถานี Club Station ขั้นกลางและขั้นสูง
HS0Aa - HS0Az และ E20Aa - E20Az
   สถานีทวนสัญญาณ
HS#RRaa – HS#RRzz
   สถานีเชื่อมต่อโครงข่ายอื่น
HS#RLaa – HS#RLzz
   สถานี Beacon
HS#RBaa – HS#RBzz

หลักการและเหตุผล

1. เพื่อการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ หากกำหนดสัญญาณเรียกขานแบ่งแยกตามระดับขั้นของใบอนุญาต จะทำให้สามารถตรวจสอบได้ง่าย หากมีการใช้งานในความถี่ที่ไม่ได้รับอนุญาตในแต่ละขั้น เช่น หากพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลาง ไปใช้งานความถี่ที่กำหนดให้เฉพาะพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นสูงใช้เท่านั้น จะสามารถทราบได้ทันทีจากสัญญาณเรียกขานที่ใช้ การกำหนดสัญณาณเรียกขานแบบแบ่งตามใบอนุญาตนี้มีการใช้งานในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตเรีย เยอรมัน อังกฤษ และอีกหลายประเทศ

2. พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นกำหนดให้ใช้สัญญาณเรียกขานที่มี Suffix 4 ตัวอักษร ซึ่งข้อบังคับวิทยุระหว่างประเทศกำหนดให้สามารถทำได้ ในปัจจุบันมีประเทศออสเตเรีย กำหนดให้พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น (Foundation) ใช้สัญญาณเรียกขาน VK#Faaa ทั้งหมด และเมื่อสอบเลื่อนขั้นได้แล้วจะกำหนดสัญญาณเรียกขานที่มี Suffix 3 หรือ 2 ตัวให้ใหม่ ซึ่งการกำหนดสัญญาณเรียกขานของพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นของไทยนั้นกำหนดเป็น HS#Baaa – HS#Bzzz ซึ่ง (B หมายถึง Basic License) โดยอาจแบ่งแยกตามเขต 1 – 9 เหมือนเช่นเดิมได้หากต้องการ

3. พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางกำหนดให้ใช้สัญญาณเรียกขานที่มี Suffix 3 ตัว เมื่อพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นได้สอบเลื่อนขั้นแล้วให้ยกเลิกสัญญาณเรียกขานเดิมที่มี Suffix 4 ตัวและใช้สัญญาณเรียกขานใหม่ และสามารถรองรับการเลือกสัญญาณเรียกขานที่ว่างอยู่จากการเพิกถอนสัญญาณเรียกขาน ทั้งนี้สัญญาณเรียกขานของพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางควรสั้นลงเนื่องจากติดต่อในย่านความถี่ HF ทั้ง SSB และ CW มีความชัดเจนต่ำ ต้องการความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสารจึงควรกำหนดให้สัญญาณเรียกขานสั้นลง

4. พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นสูง กำหนดให้ใช้สัญญาณเรียกขานที่มี Suffix 3 ตัว หรือ 2 ตัวเมื่อพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางสอบเลื่อนขั้นเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นสูงแล้ว ให้สิทธิในการขอรับสัญญาณเรียกขาน Suffix 2 ตัวได้หากมีความประสงค์ หรือจะคงใช้ Suffix 3 ตัวไว้เช่นเดิม

5. พนักงานวิทยุสมัครเล่นชาวต่างชาติที่มาขอรับอนุญาตในประเทศไทย กำหนดให้ใช้สัญญาณเรียกขาน HS0Zaa – HS0Zzz หรือ HS0/Homecall

6. การกำหนดสัญญาณเรียกขานให้ดำเนินการได้ทันที โดยเมื่อมีผู้มาขอรับใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นใหม่ให้กำหนดสัญญาณเรียกขาน HS#Baaa ไปตามลำดับ และหากเป็นผู้ที่มาขอรับใบอนุญาตหลังจากใบอนุญาตฉบับเดิมหมดอายุลงให้สิทธิในการเลือกรับสัญญาณเรียกขานใหม่แบบ Suffix 4 ตัวหรือคงสัญญาณเรียกขานเดิมไว้ได้ หากมีความประสงค์จะเปลี่ยนสัญญาณเรียกขานแบบ Suffix 4 ตัวจะให้สิทธิในการเลือกสัญญาณเรียกขานที่ต้องการได้ หรือพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นที่ใบอนุญาตยังไม่หมดอายุแต่มีความประสงค์จะขอเปลี่ยนไปใช้สัญญาณเรียกขานแบบ Suffix 4 ตัวให้สามารถดำเนินการได้เลย โดยให้สิทธิการเลือกสัญญาณเรียกขานที่ต้องการได้

7. หากดำเนินการตามแนวทางนี้ปัญหาเรื่องการกำหนดสัญญาณเรียกขานจะถูกแก้ไข และสามารถใช้งานได้ตลอดไป ซึ่งในระยะยาวสัญญาณเรียกขานจะเข้าสู่ระบบที่กำหนดไว้นี้เอง โดยไม่ต้องมีการแก้ปัญหาใดๆ เพิ่มอีก และหากสัญญาณเรียกขานของพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นหมดลงอีกในกลุ่ม HS#Baaa ก็สามารถเลือกกลุ่มต่อไปมาใช้ได้ เช่น HS#Caaa เป็นต้น แต่หากดำเนินการมาตรการการไม่ขอรับใบอนุญาตฉบับใหม่หลังจากใบอนุญาตฉบับเดิมสิ้นสุดลงแล้วเกินกว่า 2 ปีสัญญาณเรียกขานจะถูกเพิกถอน ก็จะทำให้การบริหารจัดการสัญญาณเรียกขานเพียงพอไปตลอด

8. สถานีวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่ายกำหนดให้ใช้ HS#Aa – HS#Az (# = 1-9 ยกเว้น 0)

9. สถานี Club Station ขั้นต้น กำหนดให้ใช้ E2#Aa - E2#Az (# = 1-9 ยกเว้น 0) เพื่อการแยกชัดเจนถึงสิทธิการใช้งานความถี่ ซึ่งสะดวกในการกำกับดูแลกันเองของนักวิทยุสมัครเล่น

10. สถานี Club Station ขั้นกลางและขั้นสูง กำหนดให้ใช้ HS0Aa - HS0Az และ E20Aa - E20Az มีความชัดเจนในตัวเพราะใช้เลข 0 กำกับ

11. สถานีทวนสัญญาณ ปัจจุบันไม่มีการกำหนดสัญญาณเรียกขานให้กับสถานีทวนสัญญาณ แต่ให้ใช้สัญญาณเรียกขานของสถานีควบคุมข่ายที่ได้รับอนุญาต ซึ่งไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นสถานีที่แยกหน้าที่กัน และในอนาคตอาจมีสถานีทวนสัญญาณจำนวนมากในแต่ละจังหวัด กระจายไปในแต่ละพื้นที่ และความถี่ในแต่ละย่าน เช่นสถานีทวนสัญญาณความถี่ 28-29.7 MHz และ UHF (430-440 MHz) ดังนั้นแต่ละสถานีควรมีสัญญาณเรียกขานกำหนด และควรแยกออกจากสัญญาณเรียกานของสถานีควบคุมข่าย

12. สถานีเชื่อมโยงโครงข่ายอื่น และสถานี Beacon ควรกำหนดสัญญาณเรียกขานประจำสถานีเหล่านี้โดยเฉพาะเพื่อการกำกับดูแลที่เป็นระบบ ไม่อนุญาตให้ใช้สัญญาณเรียกขานของตนเองในการใช้งานสถานีประเภทเหล่านี้ เนื่องจากจำเป็นต้องได้รับการอนุญาตให้เป็นไปตามประกาศฯ ที่ได้กำหนดไว้ก่อนหน้า และรวมถึงเพื่อแก้ปัญหาทางด้านเทคนิคการใช้งานวิทยุสื่อสารประเภทเสียงดิจิตอลอีกด้วย