Monday, September 9, 2013

หมวด 5 คลื่นความถี่ เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์

หมวด 5
คลื่นความถี่ เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์

หมวดนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นหมวดร้อนเลยก็ว่าได้ เพราะหลายคนก็อยากจะรู้ว่าสิ่งที่ได้เขียนไว้ในร่างใหม่นั้น จะสามารถถูกแปลงนำมาให้เป็นจริง ด้วยเครื่องไม้เครื่องมือของนักวิทยุสมัครเล่นที่มีจำหน่ายจ่ายแจกอยู่ในปัจจุบันได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งความถี่ใหม่ที่ได้ระบุเพิ่มเข้ามาในร่างนี้ได้แก่ความถี่ 146.000 - 146.500MHz และอีกความถี่คือ 28.000 - 29.700MHz นั้นเอง

เริ่มกันเลยแล้วกัน ของเดิมนั้นไม่ได้ใส่อะไรไว้มากในหมวดนี้ บอกแต่เพียงว่าให้เป็นไปตามภาคผนวก ที่กำหนดรายละเอียดทั้งหมดไว้ ของใหม่ก็เช่นกันให้ไปดูรายละเอียดข้อกำหนดการใช้งานต่างๆ ในภาคผนวก 6 ตามที่แนบท้ายไว้

การทำเช่นนี้ก็เป็นการดี และสะดวกต่อการปรับแก้ไข เพิ่มเติม ตัดออก ในอนาคต เพราะไม่ต้องแก้ไขหลักเกณฑ์ใหม่ทั้งฉบับซึ่งมีกระบวนการและขั้นตอนที่มากกว่า รวมถึงใช้เวลามากอีกด้วย (ดูเอาแล้วกันว่ากว่าที่ร่างฉบับนี้จะออกมาให้ชมกันได้ใช้เวลากี่ปี) แต่ถ้าใส่ไว้ในภาคผนวก ก็จะสามารถแก้ไขได้โดยใช้เวลา และขั้นตอนอันสั้น ก็เรียกได้ว่าเป็นเทคนิคและวิธีการที่นิยมใช้กันอยู่บ่อยๆ

สรุปว่าเดี๋ยวค่อยตามไปดูรายละเอียดในภาคผนวก 6 ก็แล้วกันว่าเป็นอย่างไร

ฉบับร่างใหม่นี้ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ยังมีข้อกำหนดเพิ่มเติมเข้ามาอีกว่า

"ข้อ 21 เครื่องวิทยุคมนาคมในกิจการวิทยุสมัครเล่น ต้องมีมาตรฐานทางเทคนิคตามข้อบังคับของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และต้องผ่านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานตามที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ เครื่องวิทยุคมนาคมดังกล่าวต้องมีเลขทะเบียนวิทยุคมนาคมและสัญลักษณ์ตามที่คณะกรรมการกำหนดไว้ให้เห็นเด่นชัดทุกเครื่อง"

ก็สรุปได้ว่าเครื่องวิทยุที่จะนำมาใช้งานต้องผ่านการรับรองมาตรฐาน และมีเลขทะเบียน ตามระเบียบ ซึ่งก็ต้องเป็นแบบนี้อยู่แล้วเพราะที่ไหนๆ ในโลกนี้เขาก็ทำกัน คงไม่มีประเทศไหนที่ปล่อยให้เครื่องที่ไม่มีคุณภาพเข้ามาใช้งานได้หรอก แต่ติดตรงที่คำว่า "มาตรฐานทางเทคนิคตามข้อบังคับของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)" อันนี้ยอมรับตรงๆ เลยว่าไม่มีความรู้เรื่องมาตรฐานทางเทคนิคเลย และก็พยายามหาข้อมูลแล้วว่าข้อกำหนดหรือมาตรฐานทางเทคนิคของ ITU ที่ว่าด้วยเรื่องนี้หน้าตาเป็นอย่างไร (ถ้าใครรู้หรือมีช่วยส่งข่าวหน่อย อยากรู้จริงๆ ไม่ได้ประชด)

คงต้องสอบถามเพิ่มเพื่อความเข้าใจว่ามีแนวคิดจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้

ในหมวดนี้มีของใหม่เพิ่มเข้ามาเรื่องอุปกรณ์ขยายกำลังส่งภายนอก (External RF Power Amplifier) ว่าไว้ดังนี้

"ข้อ 22 อุปกรณ์ขยายกำลังส่งภายนอก (External RF power amplifier) หรือชุดประกอบอุปกรณ์ขยายกำลังส่ง (RF Power amplifier kit) ที่พนักงานวิทยุสมัครเล่นทำขึ้นเพื่อใช้งานเอง หรือที่ผลิต นำเข้า หรือดัดแปลงเพื่อจำหน่ายให้พนักงานวิทยุสมัครเล่น ต้องผ่านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานตามที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้ คณะกรรมการจะไม่อนุญาตให้พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นใช้งานอุปกรณ์ขยายกำลังส่งภายนอก (External RF power amplifier)"

ก็นับได้ว่าเป็นเรื่องดีที่จะมีโอกาสใช้กำลังส่งที่สูงขึ้น มากกว่าที่ตัวเครื่องวิทยุสามารถทำได้ แต่อุปกรณ์ที่นำมาใช้ก็ต้องผ่านตามขั้นตอนเช่นเดียวกันกับเครื่องวิทยุทั่วไป คือผ่านการตรวจสอบรับรองมาตรฐานเสียก่อน หากเป็นรุ่นที่ผ่านการรับรองมาตรฐานแล้วก็สามารถนำมาใช้งานได้

ข้อนี้ถูกเสนอไปเพราะต้องการให้พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางและขั้นสูง ได้ใช้กำลังส่งที่สูงเกินกว่าที่กำหนดไว้ในของเดิมคือ 200 วัตต์ ซึ่งร่างใหม่ก็ได้กำหนดให้ใช้ได้ไม่เกิน 1000 วัตต์ สำหรับเฉพาะขั้นสูงเท่านั้น ซึ่งการใช้กำลังส่งที่สูงนั้นแน่นอนว่าต้องใช้อุปกรณ์ดังกล่าวด้วย เพราะปัจจุบันเครื่องที่ผลิตส่วนมากก็จะมีกำลังส่ง 100 หรือ 200 วัตต์ มีบางรุ่นที่ได้ถึง 400 วัตต์

อีกประการคือต้องการให้เพิ่มกำลังส่งสูงสุดที่ใช้ได้ในความถี่ 144MHz เพื่อให้ใช้งานได้ในบางประเภทของการติดต่อสื่อสาร เช่น การติดต่อสื่อสารสะท้อนพื้นผิวดวงจันทร์ และการติดต่อสื่อสารสะท้อนหางดาวตก หรือการติดต่อแบบอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องใช้กำลังส่งที่สูง

โดยแนวคิดก็คือให้พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น ใช้กำลังส่งไม่เกินกำลังส่งสูงสุดของเครื่องวิทยุที่ผลิตและจำหน่ายอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเครื่องทั่วไปไม่ได้ปรับแต่งก็จะไม่เกิน 100 วัตต์ โดยห้ามไม่ให้ใช้เกินกว่านั้น โดยผ่านอุปกรณ์เสริมภายนอก ด้วยเพราะเครื่องวิทยุที่ผลิตมานั้นมีการออกแบบวงจร และระบบการป้องกันการรบกวนที่ดีอยู่แล้ว หากไม่รู้วิธีการใช้งานที่ถูกต้อง ไม่มีวิธีการป้องกันการรบกวนที่ดีพอ การใช้อุปกรณ์ขยายกำลังส่งภายนอกเพิ่มเข้าไป อาจเกิดการรบกวนได้ ด้วยที่พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นไม่มีรายละเอียดในหลักสูตรการสอบเกี่ยวกับอุปกรณ์ขยายกำลังส่ง และการป้องกันการรบกวน ที่มากพอ จึงได้กำหนดไว้ที่ขั้นที่สูงกว่าขั้นต้น จึงจะได้ใช้งาน







No comments:

Post a Comment