Tuesday, October 28, 2014

มาตรา 43

ผ่านพ้นมาก็หลายเดือนแล้ว นับจากวันที่ประกาศ กสทช เกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่น ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2557

หลายคนก็ดีใจที่มีพัฒนาการไปในทางที่ดีขึ้น เรียกได้ว่าไม่อายนานาอารยประเทศ ว่ากิจการวิทยุสมัครเล่นไทย ก็ทัดเทียบกัน (เรื่องกฏหมาย และข้อกำหนด) แต่ก็มีหลายคนบนพึงพำต่อว่าต่างๆ นานา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าได้รับความสนใจไม่น้อยจากนักวิทยุสมัครเล่น่ ถึงแม้จะรู้สึกช้าไปหน่อยก็ยังดีที่ออกมามีเสียงบ้าง

มาจนถึงวันนี้มีจำนวนไม่น้อยที่อ่านประกาศแล้วก็ไม่เข้าใจ หรือไม่รู้ว่าจะปฏิบัติตัวอย่างไร มันสับสนไปหมด ได้มีความพยายามจาก กสทช ที่จะไปเดินสายชี้แจง อธิบาย แถลงไข ให้เกิดความกระจ่างแล้วทั่วประเทศก็ตาม หลายคนก็ยังพลาดโอกาสที่จะได้เข้าร่วม

ประเด็นร้อนหนึ่งก็คือตามประกาศ ในมาตราที่ 14 กำหนดไว้ว่าพนักงานวิทยุสมัครเล่นทุกคนจะต้องมีสถานะเป็นสมาชิกของสมาคมที่ กสทช รับรอง โดยมีเนื้อความตามนี้

ข้อ ๑๔ พนักงานวิทยุสมัครเล่นต้องมีสถานะเป็นสมาชิกขององค์กรวิทยุสมัครเล่นที่จดทะเบียนนิติบุคคลเป็นสมาคมที่คณะกรรมการรับรอง

 และเพื่อไม่ให้เป็นการสงผลกระทบในวงกว้างจึงได้ออกบทเฉพาะกาล ข้อที่ 43 ยกเว้นผู้ที่ได้รับอนุญาตก่อนประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ดังนี้

ข้อ ๔๓ ความในข้อ ๑๔ มิให้ใช้บังคับกับผู้ที่ได้รับใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่น
ก่อนประกาศฉบับนี้มีผลใช้บังคับ
 ก็เลยทำให้เกิดการตีความกันไปต่างๆ นานา จนทำให้เกิดความสับสนกันไปมาก ว่าที่บอกไว้ในข้อ 43 น่ะคืออย่างไร จะตีความเข้าข้างใครก็แล้วแต่ ลองมาดูภาพประกอบนี้แล้วก็น่าจะกระจ่างขึ้นได้บ้าง



Wednesday, October 15, 2014

สัญญาณรบกวนมาจากไหน

ได้ยินเสียงมาว่าเกิดการรบกวนกัน อะไรสักอย่าง ระหว่างสถานี Echolink กับสัญญาณที่ผู้ถูกรบกวนพูดถึงว่าจะเป็นดาวเทียม หรือสถานี D-STAR เมื่อได้ยินดังนั้น จากข้อมูลที่มีอยู่เพียงน้อยนิด ก็ได้กลับมาคิดหาต้นตอ และสาเหตุของปัญหาว่าน่าจะเกิดจากอะไร

หลังจากพิจารณาอยู่พักใหญ่ ก็พบว่าปัญหา และสาเหตุน่าจะเกิดจากสิ่งนี้เป็นแน่แท้ ลองมาดูกันว่าสัญญาณรบกวนเกิดจากอะไร

ปัจจุบันเราใช้ระยะห่างระหว่างช่องความถี่ที่ระยะ 12.5 kHz เป็นมาตรฐานสากล ที่กำหนดให้การผสมสัญญาณชนิด FM จะต้องปรับระยะห่างเป็น 12.5 kHz ทั้งหมด ซึ่งก็ต้องใช้การผสมคลื่นแบบ FM Narrow ที่ใช้แถวความกว่างของความถี่ (Bandwidth) ที่ 11.25 kHz

แต่ด้วยเราอาจจะยังไม่ได้ปรับเปลี่ยนเครื่องวิทยุของเราให้มีการผสมคลื่นแบบ FM Narrow ที่มีความสัมพันธ์กับระยะห่างระหว่างช่องที่น้อยลงจากเดิม หากเราใช้การผสมคลื่นแบบ FM Wide เช่นเดิมที่ใช้ Bandwidth ที่กว้างถึง 20 kHz อยู่ ปัญหาการรบกวนกันระหว่างช่องข้างๆ ก็จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน

มาดูช่องข้างๆ กันเขาใช้อะไร และเป็นแบบไหน ที่ความถี่ 145.7875 MHz นั้นมีการใช้งานวิทยุสื่อสารประเภทเสียงดิจิตอล แบบ D-STAR ซึ่งใช้การผสมคลื่นแบบ GMSK ที่ใช้ Bandwidth เพียง 6.25 kHz นั่นคือเพียงครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างช่องที่กำหนดไว้ที่ 12.5 kHz

อ้าว...แล้วอย่างนี้มันกวนกันได้อย่างไรล่ะ ก็แน่นอนว่า FM Wide ที่ 20 kHz กินแถบความถี่ข้างละ 10 kHz จากความถี่กลาง และ D-STAR กินแถบความถี่ข้างละ 3.125 kHz ซึ่งเมื่อนำ 2 แถบนี้มารวมกัน ดังนี้

10 kHz + 3.125 kHz= 13.125 kHz 

ตายละมันเกิน 12.5 kHz แสดงว่ามันมีส่วนที่ทับกันอยู่ และนี่เองเป็นตัวปัญหาที่ทำให้เกิดสัญญาณรบกวน ให้ดูภาพด้านล่าง เพื่อเพิ่มความเข้าใจ


อ้าว..แล้วมันรบกวนกันแบบนี้ จะมีวิธีแก้ไขมั้ย แน่นอนว่าเมื่อเรารู้ต้นตอของปัญหาแล้ว การแก้ไขก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้วล่ะ ในเมื่อ Bandwidth มันเกินมาทับกัน เราก็ลด Bandwidth ไม่ให้มันมาทับกัน ปัญหาก็หมดลงไปในทันที

คำถามต่อมาคือ แล้วจะไปลดที่ไหนล่ะ ใครเป็นคนลด Bandwidth

ก็ต้องไปดูว่าใครใช้ไม่เป็นไปตามข้อกำหนด หรือมาตรฐาน ที่กำหนดไว้ ก็แน่ละคนที่ใช้ Bandwidth เกินกว่า 11.25 kHz ก็ต้องปรับให้เป็นไปตามข้อกำหนด

ในทางปฏิบัติ เพียงแต่เปลี่ยนไปใช้ FM Narrow ที่ใช้ Bandwidth น้อยลง ปัญหาก็จบลงได้ง่าย เพียงแค่กดปุ่มไม่กี่ครั้งเท่านั้นเอง


คงไม่ใช่กรณีนี้เรื่องเดียวที่สร้างปัญหาการรบกวน แต่รวมถึงการใช้งานความถี่อื่นๆ ด้วย สำหรับนักวิทยุสมัครเล่นที่ยังคงใช้งานเครื่องในแบบ FM Wide อยู่ แต่สำหรับสถานีวิทยุสมัครเล่นทั่วไปนั้นปัญหาไม่ได้เกิดตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นสถานี Link ที่เปิดให้บริการกันแบบเรียกว่า 24 ชั่วโมงไม่มีหยุดนั้น แล้วอยู่ช่องติดกัน ปัญหาก็จะเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นไปอีก

สำหรับผู้ที่ทำสถานี Link จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ FM Narrow เพื่อไม่ก่อให้เกิดการรบกวนระหว่างกัน ในส่วนของสถานีทวนสัญญาณ (Repeater) นั้นได้ปรับเป็น FM Narrow เกือบหมดแล้ว ถ้าเป็นไปได้ใครมีความพร้อม และมีเครื่องที่สามารถใช้งาน FM Narrow ได้อยู่แล้วให้เปลี่ยนไปใช้เถอะครับ

อนาคตข้อกำหนดของการขออนุญาตตั้งสถานีเชื่อมโยงโครงข่ายอื่น อาจกำหนดมาเลยว่าผู้ที่ตั้งสถานีประเภทนี้ต้องใช้ FM Narrow เท่านั้น ถ้าใครไม่พร้อมอาจไม่พิจารณาให้ตั้งสถานีก็เป็นได้


ผลการทดลองจริง
(เปิด Caption - CC เพื่อชมคำอธิบาย)



อ้างอิง :
http://utahvhfs.org/dstar_channel_spacing.html
http://en.wikipedia.org/wiki/Carson_bandwidth_rule
http://en.wikipedia.org/wiki/Types_of_radio_emissions
http://en.wikipedia.org/wiki/D-STAR