Sunday, December 27, 2015

เข้าใจ CTCSS หรือ โทนสเควแบบง่าย ๆ

เมื่อได้ยินคำว่า CTCSS หลายคนงงว่ามันคืออะไร เกี่ยวข้องกับวิทยุสมัครเล่นยังไง ลองมาทำความเข้าใจกันดู ว่าแท้จริง CTCSS คืออะไร เอาไว้ทำอะไร มีประโยชน์อย่างไร

CTCSS นั้นเป็นคำย่อจากคำเต็มว่า Continuous Tone-Coded Squelch System บางคนเรียกสั้น ๆ ว่า Tone Squelch อ่านเป็นภาษาไทยว่า โทนสเคว หรือโทนโคด ถ้าอธิบายความหมายทางด้านเทคนิตตามคำเต็ม ๆ นั่นก็คือ ระบบสเควที่ทำงานด้วยโทน (ความถี่ต่ำ) ต่อเนื่อง อ่านคำแปลแล้วก็ยังงงอยู่ดี อธิบายใหม่แบบบ้าน ๆ แล้วกันว่า เป็นระบบที่ภาครับของเครื่องวิทยุจะเปิดการทำงานด้วยโทนความถี่ต่ำที่ถูกส่งมาอย่างต่อเนื่องจากเครื่องส่ง โทนความถี่ต่ำนี้เป็นความถี่ที่หูคนเราไม่ได้ยิน แต่วิทยุสามารถแยกแยะได้ด้วยวงจรอิเล็คทรอนิกส์

ความถี่ของ CTCSS มาตรฐาน มีดังนี้


ความถี่ CTCSS มีหน่วยเป็น Hz จะเห็นว่ามีหลายความถี่มาก แต่ที่แนะนำให้ใช้คือความถี่ (A) - (I)

67.0 (A)
71.9 (B)
77.0 (C)
82.5 (D)
88.5 (E)
94.8 (F)
103.5 (G)
110.9 (H)
118.8 (I)



การนำ CTCSS มาประยุกต์ใช้นั้นทำได้หลายรูปแบบ วิธีง่ายสุดคือ การกำหนดให้ภาครับของเครื่องรับเปิดรับสัญญาณหากได้รับ CTCSS Tone ที่กำหนดไว้เท่านั้น เช่น

ภาครับของสถานีทวนสัญญาณกำหนดว่าให้รับสัญญาณเฉพาะสัญญาณที่รับเข้ามาแล้วมี Tone 67.0 Hz (A) ส่งมาด้วยเท่านั้น ถ้าไม่มี Tone 67.0 Hz ส่งมา หรือ Tone ความถี่อื่น ภาครับก็จะไม่เปิดรับสัญญาณที่ส่งมานั่นเอง

การใช้ CTCSS ในลักษณะนี้อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ด้วยการเปรียบเทียบกับ แม่กุญแจ และลูกกุญแจ ภาครับนั่นถูกล็อคด้วยแม่กุญแจไว้ เวลาจะใช้งานจะต้องไขกุญแจให้ถูกต้องถึงจะใช้งานได้ ซึ่งในวิทยุนั้นจะมีลูกกุญแจอยู่แล้วหลายดอก ที่ติดมากับตัวเครื่องจากโรงงาน เป็นมาตรฐานเหมือนกันหมด เพียงแต่เลือกใช้ลูกกุญแจให้ตรงกับแม่กุญแจที่กำหนดไว้เท่านั้น เราก็จะเปิดใช้งานได้

การใช้ CTCSS นั้นมิได้เป็นการปิดกั้นการใช้งาน หรือใช้งานเฉพาะกลุ่มแต่อย่างใต ในเครื่องวิทยุของเราทุกเครื่องที่ใช้งานอยู่ จะมีทั้งแม่กุญแจ และลูกกุญแจมาตรฐาน (CTCSS มาตรฐาน) มาในตัวเครื่องจากโรงงานทุกเครื่อง นักวิทยุสมัครเล่นทุกคนสามารถเลือกใช้ได้ทันทีที่ต้องการ การใช้รหัสหรือการใช้ Code นอกเหนือจากที่นักวิทยุสมัครเล่นทั่วไปส่วนใหญ่ ไม่สามารถเข้าถึงได้โดยง่าย นั่นคือการปิดกัน แต่ระบบ CTCSS นั้นเป็นระบบที่มีมาในเครื่องวิทยุทุกเครื่อง เป็นระบบเปิด จึงไม่ได้เป็นการปิดกันไม่ให้ใช้งาน

การนำ CTCSS มาใช้งานมีข้อดีอย่างไร?
การใช้ CTCSS นั้นมีข้อดีมากกว่าไม่ใช้ เพราะช่วยให้ป้องกันสัญญาณไม่พึงประสงค์จาก QRN หรือ Noise แม้กระทั้ง QRM จากการรบกวนที่ไม่ได้ตั้งใจไม่ให้เปิดภาครับของสถานีวิทยุที่ใช้ CTCSS ได้ ลดปัญหาการรบกวนไปได้อย่างสิ้นเชิง

ตัวอย่างการใช้งาน CTCSS

สถานีทวนสัญญาณ 2 แห่งใช้งานความถี่ภาครับเดียวกัน ความถี่ 145.025 MHz ภาครับของสถานีทวนสัญญาณตัวที่ 1 เปิดด้วยการใช้ CTCSS 67.0 Hz (A) และภาครับของสถานีทวนสัญญาณตัวที่ 2 เปิดด้วยการใช้ CTCSS 71.9 Hz (B) ผู้ใช้งานสามารถเลือกได้ว่าต้องการใช้งานสถานีทวนสัญญาณตัวไหนโดยกำหนด CTCSS ให้ตรงกับภาครับของสถานีทวนสัญญาณตัวนั้น เช่น ต้องการใช้สถานีทวนสัญญาณตัวที่ 1 ก็กำหนดให้เครืื่องส่ง Tone 67.0 Hz (A) ออกไป ทำให้ภาครับของสถานีทวนสัญญาณตัวที่ 1 เปิดทำงาน ในขณะที่ภาครับสถานีทวนสัญญาณตัวที่ 2 จะไม่เปิดรับสัญญาณที่ส่งไป เพราะมี Tone ไม่ตรง

การประยุกต์ใช้ CTCSS ยังทำได้มากมายหลายวิธี เช่น สถานีทวนสัญญาณ 1 สถานีสามารถมีภาครับได้มากกว่า 1 ชุดกระจายอยู่ทั่วจังหวัด เป็นตั้น แต่ระบบจะมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นไปอีก



2 comments:

  1. ระทวนสัญญาณต่างประเทศส่วนใหญ่ ใช้ CTCSS หมดเลย
    ของ US ระบบไฟ 60Hz โดยถ้าไม่ระบุว่าใช้โทนไหน ค่าที่เป็นที่เข้าใจกันคือจะใช้โทน 100Hz
    ส่วน UK ระบบไฟ 50Hz จะใช้โทน ที่ไม่ใช่ Harmonic ของ 50Hz เช่น 100/151.4/199.5
    แล้วยังมีอีกบางที่ใช้ Burst tone 1750Hz

    นอกจากนี้ ถ้ามี RX หลายๆ ที่ ก็ยังมีระบบ Voting เลือกเอาสถานนีที่สัญญาณดีที่สุดมาออก repeater ด้วย

    แต่บ้านเราการใส่ CTCSS ให้ repeater เป็นไปแทบไม่ได้เลยครับ
    เพราะผู้ใช้งาน Repeater ไม่ยอมพัฒนาตนเองให้สมกับการเป็นนักวิทยุสมัครเล่นเลย

    ReplyDelete
    Replies
    1. ขอบคุณสำหรับข้อมูล และความเห็นครับ
      ทุกอย่างเป็นไปได้ทั้งหมดครับ ไม่ใช่ว่าผู้ใช้งานไม่ยอมพัฒนาหรอกครับ
      อยู่ที่การให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องกับนักวิทยุสมัครเล่นครับ

      ผมยกตัวอย่าง เช่น เมื่อสมัยที่ประเทศไทยยังไม่มี Repeater เราก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร จะใช้มันอย่างไร จะตั้งค่าวิทยุสื่อสารอย่างไรเพื่อใช้งาน Repeater ก็ป่วน งง กันไปสักพัก เรื่องการตั้งค่าในเครื่องวิทยุ ผ่านมาหลายปีจนปัจจุบัน แทบไม่ต้องอธิบายอะไรกันมากแล้วว่า Repeater คืออะไร ใช้อย่างไร ตั้งเครื่องอย่างไร

      นี่เป็นตัวอย่างครับ เรื่องใหม่ (สำหรับเรา) มันก็มักเป็นเรื่องวุ่นวาย และยุ่งยากเสมอ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกอย่างจะเข้าที่เองครับ สิ่งสำคัญคือต้องให้ความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องกันก่อน และก็ค่อยๆ ทำไป เดี๋ยวทุกอย่างก็จะดีขึ้นเอง

      เราสามารถทำอะไรกับระบบ repeater ของประเทศได้อีกมากครับ
      ทุกอย่างเป็นไปได้!

      Delete