Sunday, December 27, 2015

ทำไมสถานีเชื่อมโยงผ่านโครงข่ายอื่นต้องเปิดให้ใช้งาน DTMF!!!



ประเทศไทยเรามีการใช้งานสถานีเชื่อมโยงผ่านโครงข่ายอื่น โดยผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในระบบอนาล็อค โปรแกรมที่มีผู้ใช้งานจำนวนมากได้แก่ โปรแกรม EchoLink  นับตั้งแต่มีการอนุญาตให้ใช้งานครั้งแรก มีจำนวนสถานี Link ไม่มาก มีผู้ใช้งานจำกัด ทุกสถานี Link เปิดใช้งาน DTMF ให้ผู้ใช้งานทางความถี่วิทยุสามารถใช้สถานี Link ไปเชื่อมโยงกับสถานีปลายทางต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ แต่เมื่อเวลาผ่านไปสิบกว่าปี รูปแบบการใช้งานได้เปลี่ยนไป มีจำนวนสถานี Link เพิ่มมากขึ้น พร้อมกับจำนวนผู้ใช้งานที่มากขึ้น มีห้องสนทนา (Conference) ที่หลากหลายให้ได้เข้าไปจับกลุ่มคุย แต่สิ่งที่หายไปคือ การไม่เปิดให้ผู้ใช้งานทางความถี่วิทยุได้สามารถควบคุมสั่งการสถานี Link ผ่าน DTMF ได้อีกต่อไป

อาจจะลืมไปว่าเหตุใดเราจึงตั้งสถานี Link ขึ้น ดังนั้นจึงขอทบทวนว่า ทำไมเราถึงต้องมีสถานี Link ในพื้นที่นั้น ๆ

" วัตถุประสงค์ของสถานี Link คือ ขยายขีดความสามารถของสถานีในรถยนต์ หรือสถานีประจำที่ขนาดเล็ก ที่ติดต่อได้ระยะทางกำกัด ให้สามารถติดต่อสื่อสารได้กว้างไกลขึ้น โดยอาศัยประสิทธิภาพของโครงข่ายอื่น เช่น อินเทอร์เน็ต "

วัตถุประสงค์หลัก คือให้บริการหรือให้ความช่วยเหลือกับผู้ใช้งานทางความถี่วิทยุเป็นสำคัญ เมื่อใครก็ตามที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานี Link จึงต้องยึดในวัตถุประสงค์นี้เป็นหัวใจสำคัญ ว่าจะทำอย่างไรให้สถานี Link นั้นให้บริการกับผู้ใช้งานผ่านทางความถี่ได้ดีที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด

หากไม่เปิดให้ใช้งาน DTMF ก็เท่ากับว่าไม่เปิดให้ใช้สถานี Link นั้น ๆ กับผู้ใช้งานทางความถี่วิทยุได้ใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันพบว่าสถานี Link เชื่อมต่อกับห้องสนทนา (Conference) ตลอดเวลา ทำให้ผู้ใช้งานทางความถี่ไม่สามารถใช้ Link เพื่อติดต่อสื่อสารกับสถานีอื่น ๆ ที่อยู่นอกห้องสนทนาที่ Link นั้นอยู่ได้ ทำได้เพียงติดต่อสื่อสารกับผู้ที่อยู่ในห้องสนทนา (Conference) ที่ Link อยู่ประจำเท่านั้น

ผู้ที่เปิดบริการสถานี Link ที่ทำแบบนั้น ได้ทำผิดข้อห้ามสำหรับกิจการวิทยุสมัครเล่น ตามประกาศ กสทช ว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่น ข้อที่ 9 โดยไม่รู้ตัว ซึ่งข้อห้ามข้อนี้ระบุว่า ห้ามใช้ช่องสัญญาณในลักษณะยึดถือครอบครองเฉพาะกลุ่มบุคคล



ขยายความให้ชัดเจนขึ้นอีกนิดสำหรับข้อห้ามนี้ ที่บอกว่ายึดถือครอบครองเฉพาะกลุ่มบุคคล นั่นคือความถี่จะถูกใช้งานสำหรับกลุ่ม ชมรม หรือห้องสนทนา (Conference) ใด ๆ เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น ไม่สามารถใช้ติดต่อสื่อสารกับกลุ่มอื่น ๆ ได้อีก ในกรณีการนำสถานี Link ไปอยู่ที่ห้องสนทนาใด ๆ เป็นการถาวร จึงเข้าข่ายยึดถือครอบครองเฉพาะห้องสนทนา (Conference)

ถึงแม้ว่า Link ที่อยู่ประจำห้องสนทนานั้นเปิดเสรี อิสระ นักวิทยุสมัครเล่นทั่วไปสามารถใช้ได้ ไม่ได้มีการห้ามใช้ แต่การมาใช้งาน Link ของนักวิทยุสมัครเล่นคนนั้น ก็ทำได้เพียงใช้พูดคุยกับผู้ที่อยู่ในห้องสนทนาที่ Link นั้นอยู่เท่านั้น เท่ากับว่า Link นี่ถูกใช้งานอยู่ในห้องสนทนาในกลุ่มเดียว ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นความผิดข้อห้ามตามประกาศ เพราะสามารถใช้ Link ติดต่อได้กับห้องสนทนาเดียวเท่านั้น

ลองดูตัวอย่างเปรียบเทียบต่อไปนี้

มีชมรมนักวิทยุสมัครเล่นกลุ่มหนึ่ง ใช้ความถี่ช่องหนึ่งพูดคุยสื่อสารกันในกลุ่มเป็นประจำ และเมื่อมีนักวิทยุสมัครเล่นนอกกลุ่มเข้ามาพูดคุยในช่องความถี่นั้น สมาชิกในชมรมก็จะขึ้นมาพูดคุยติดต่อ สื่อสารด้วยดี ไม่มีปัญหาอะไร และวันดีคืนดีมีนักวิทยุสมัครเล่น 2 คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของชมรมขึ้นมาพูดคุย และใช้ความถี่ช่องที่ชมรมใช้เป็นประจำ แล้วสมาชิกของชมรมก็ขึ้นมาบอกว่าช่องความถี่นี้เป็นของชมรมเขา ถ้าจะขึ้นมาคุยต้องพูดคุยกับสมาชิกในชมรมเท่านั้น ใช้พูดคุยกับชมรมอื่นหรือกลุ่มบุคคลอื่นไม่ได้

ถ้าเราพิจารณาตัวอย่างนี้แล้วมีความเห็นว่าการกระทำแบบนี้เป็นการยึดถือครอบครองเฉพาะกลุ่ม มีความผิดตามข้อห้ามในประกาศ ดังนั้นการนำสถานี Link ไว้ในห้องสนทนา (Conference) โดยที่ผู้ใช้งานคนอื่น ๆ ไม่สามารถใช้งานความถี่นั้น เพื่อการติดต่อสื่อสารกับห้องสนทนาอื่น ๆ หรือสถานีอื่น ๆ ได้ก็มีความผิดตามข้อห้ามในประกาศนี้เช่นเดียวกัน

ทางออกของการไม่เป็นผู้กระทำผิดโดยไม่รู้ตัวนี้คืออะไร?

ทางออกของเรื่องนี้ก็ง่ายนิดเดียวเพียงเปิดโอกาศให้ผู้ใช้งานสถานี Link ผ่านความถี่วิทยุ สามารถใช้สถานี Link พูดคุยกับใครก็ได้ที่ต้องการ ไม่ได้ใช้เพื่อติดต่อสื่อสารเฉพาะกลุ่ม หรือเฉพาะห้องสนทนา (Conference) เพียงเท่านั้น ก็เป็นการไม่ผิดขัอห้ามดังกล่าวแล้ว ซึ่งโปรแกรมที่ใช้จะมีความสามารถให้ควบคุมสั่งการผ่าน DTMF ได้ทั้งหมด

ทั้งนี้สถานี Link ยังคงสามารถอยู่ประจำห้องสนทนา (Conference) ที่ประสงค์ได้ตามเดิม เพียงแต่เปิดการใช้งาน DTMF เพิ่มเติม และกำหนดให้สถานี Link กลับไปในห้องสนทนาที่ต้องการภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่มีผู้ใช้งานผ่านทางความถี่วิทยุแล้ว (ระยะเวลาที่เหมาะสมไม่ควรต่ำกว่า 5 นาที)

เราสามารถเปิดให้บริการสถานี Link ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่กลายเป็นผู้กระทำความผิดโดยไม่ตั้งใจ และด้วยขณะนี้ประกาศฉบับปัจจุบันกำหนดให้สถานีเชื่อมโยงผ่านโครงข่ายอื่นต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช ซึ่งแน่นอนว่าถ้าสถานีที่เข้าข่ายกระทำผิดตามข้อห้ามดังกล่าวก็จะไม่ได้รับการพิจารณาให้ตั้งสถานีเชื่อมโยงผ่านโครงข่ายอื่นได้

ผู้ที่ให้บริการสถานี Link เป็นผู้ที่เสียสละทั้งทุนทรัพย์ส่วนตัว เวลา มากมาย นักวิทยุสมัครเล่นที่ใช้งานสถานี Link รู้สึกขอบคุณและชื่นชมในความเสียสละของผู้ที่ให้บริการเหล่านี้ แต่การเสียสละนั้นอยู่บนความถี่ที่เป็นสาธารณะที่นักวิทยุสมัครเล่นทุกคนมีสิทธิที่จะได้ใช้งานอย่างอิสระ เพียงเปลี่ยนจากการเสียสละเพื่อกลุ่ม เพื่อชมรม มาเป็นเสียสละเพื่อประโยชน์สาธารณะของนักวิทยุสมัครเล่นทุกคนอย่างแท้จริง

บทความที่เกี่ยวข้อง : วิธีการเปิดใช้งาน DTMF ของ EchoLink

2 comments:

  1. กำลังจะตั้งสถานีลิงค์ ข้อมูลดีมากครับ

    ReplyDelete