Monday, February 28, 2022

15 ปี หลังยกเลิกสอบรหัสมอร์สของ วิทยุสมัครเล่นอเมริกาเป็นอย่างไร มาดูกัน

     เมื่อสิบกว่าปีก่อนประชาคมนักวิทยุสมัครเล่นทั่วโลก เป็นกังวลกับอนาคตของกิจการวิทยุสมัครเล่นที่นับวันจะมีคนสนใจน้อยลงไปเรื่อย ๆ จึงได้ปรึกษาหารือกันระดับนานาชาติว่า จะมีหนทางไหนบ้างที่จะทำให้กิจการวิทยุสมัครเล่นยังคงดำเนินต่อไป มีคนเข้ามาสนใจมากขึ้น และหนึ่งในทางเลือกจากที่ประชุม WRC-03 นั้นก็คือ ยกเลิกข้อกำหนดของ ITU ตามข้อความดังต่อไปนี้

"Any person seeking a license to operate the apparatus of an amateur station shall prove that he is able to send correctly by hand and to receive correctly by ear texts in Morse code signals. The administrations concerned may, however, waive this requirement in the case of stations making use exclusively of frequencies above 30 MHz."

    สรุปใจความสั้น ๆ ว่า ใครก็ตามที่จะขอรับใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่น ในความถี่ต่ำกว่า 30 MHz ลงมา จะต้องสามารถส่งรหัสมอร์สด้วยมือและรับรหัสมอร์สด้วยหูของตนเองได้ โดยหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศเป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับข้อกำหนดดังกล่าว และจากข้อสรุปจาก WRC-03 ได้ตกลงที่จะเปลี่ยนข้อความดังกล่าวเสียใหม่เป็น

"Administrations shall determine whether or not a person seeking a license to operate an amateur station shall demonstrate the ability to send and receive texts in Morse code signals."

    ความหมายคือ ให้หน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศเป็นผู้ตัดสินใจได้เองว่าผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นจะต้องแสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ที่ส่งและรับรหัสมอร์ส ได้หรือไม่ ให้แต่ละประเทศเลือกได้ว่าจะสอบหรือไม่สอบรหัสมอร์สนั่นเอง

    จากที่ประชุม WRC-03 ได้มีข้อเสนอให้ตัดข้อความเดิมออกไปเลย แต่ด้วยมีหลายประเทศไม่เห็นด้วย เพราะยังไม่มีความมั่นใจว่า การยกเลิกรหัสมอร์สออกไปนั้น เป็นผลดีต่อกิจการวิทยุสมัครเล่น จริงหรือไม่ จึงขอให้คงไว้ซึ่งสิทธิในการพิจารณาของประเทศตนเอง



    หลังจากนั้นมีหลายประเทศ ได้ทยอยยกเลิกการสอบรหัสมอร์สออกไป ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกการสอบรหัสมอร์สไป เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2007 สำหรับประเทศไทยยังคงไว้ ให้มีการสอบรหัสมอร์สตามเดิม และจากที่สหรัฐอเมริกา เป็นพี่ใหญ่ในการเสนอให้เปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ลองมาดูกันว่านับตั้งแต่มีการยกเลิกการสอบรหัสมอร์สไปเมื่อปี 2007 (พ.ศ. 2550)  หรือกว่า 15 ปีมาแล้วนั้นเป็นอย่างไร
กราฟแสดงจำนวนนักวิทยุสมัครเล่น แยกตามระดับใบอนุญาต

    นอกจากการยกเลิกรหัสมอร์สแล้ว สหรัฐอเมริการยังทำอีกหลายอย่าง เพื่อดึงให้คนหันมาสนใจกิจการวิทยุสมัครเล่นมากขึ้นกว่าเดิม เช่น ลดจำนวนระดับขึ้นของใบอนุญาตลงจาก 5 ขั้น เหลือ 3 ขั้น เพื่อลดจำนวนครั้งของการสอบ การปรับปรุงข้อสอบกลางให้มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำเป็นประจำทุก 4 ปี

    จุดสังเกตุที่น่าสนใจคือจำนวนนักวิทยุสมัครเล่นระดับ General และ Extra ก่อนและหลังยกเลิกการสอบรหัสมอร์ส เนื่องจากเป็นระดับขั้นที่ต้องสอบรหัสมอร์สก่อนการยกเลิก พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักวิทยุสมัครเล่นจริง ซึ่งเป็นผลจากการยกเลิกการสอบรหัสมอร์ส และหลังจากนั้นไม่นาน ก็มีการปรับปรุงชุดข้อสอบใหม่สำหรับระดับ General ตามออกมา เป็นผลให้มีผู้สอบผ่านเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง แต่ระดับ Extra นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก และมีการเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ มาจนถึงปัจจุบัน ของทั้งระดับ General และ Extra 

    ที่ไม่ได้กล่าวถึงระดับ Technician นั้นเนื่องด้วยแต่เดิม ไม่มีการสอบรหัสมอร์สอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีผลแต่อย่างใด แต่น่าสังเกตว่า ทำไมเมื่อยกเลิกรหัสมอร์สช่วงแรก กลับทำให้จำนวนของระดับ Technician ตกลงไปเล็กน้อย 

    ที่เป็นเช่นนั้น ต้องมาทำความเข้าใจกับวิธีการสอบของสหรัฐอเมริกาเพิ่มเติมอีกสักนิด การสอบของสหรัฐอเมริกา เป็นการสอบที่ผู้เข้าสอบสามารถสอบเลื่อนระดับ ไปถึงขั้นสูงสุดที่สามารถสอบผ่านได้ภายในการสอบครั้งเดียว เช่น ผู้เข้าสอบทำข้อสอบระดับ Technician ผ่านแล้ว สามารถขอสอบระดับ General ต่อได้ในวันนั้นเลย โดยกรรมการผู้คุมสอบจะเป็นผู้ตรวจ และประกาศผลให้ทราบในวันสอบ และเช่นเดียวกันหากสอบผ่านระดับ General ก็สามารถขอสอบระดับ Extra ได้เลย นั่นหมายความว่าถ้าเตรียมตัวมาดี ก็สามารถสอบผ่าน 3 ระดับได้ในวันเดียว ซึ่งเป็นการกระโดดข้ามระดับ Technician และ General ไป ทำให้จำนวนลดลงในช่วงนั้นได้

    ระบบนี้แตกต่างจากของไทย ที่ต้องผ่านทีละระดับไปก่อน ซึ่งแต่ละระดับก็ต้องใช้เวลาเป็นปี ทำให้ความสนใจ ความที่อยากจะพัฒนาตนเองต้องหยุดชะงักลง หลังจากที่สอบได้ขั้นต้นและใช้งานความถี่มาแล้วระยะหนึ่ง ด้วยเงื่อนไขการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปตามช่วงเวลาของแต่ละคน ถ้าเราสามารถปรับเรื่องนี้ได้ก็จะช่วยได้ไม่น้อย เรื่องการเพิ่มผู้ที่สนใจสอบเลื่อนระดับขั้นใบอนุญาตขึ้นมาได้ คล้ายสุภาสิตที่ว่า ตีเหล็กตอนร้อน

กราฟแสดงจำนวนนักวิทยุสมัครเล่น รวมทั้งหมด

    หากมองในภาพรวม จำนวนทั้งหมดก่อนและหลังยกเลิกการสอบรหัสมอร์ส จะพบว่าจำนวนรวมนั้นเริ่มลดลงเรื่อย ๆ และก็เพิ่มจำนวนขึ้นจากที่ลดลงไปเหลือ 656,000 คน มาเป็น 756,000 เพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนคนโดยประมาณ ในระยะเวลา 15 ปี และถ้าดูร่วมด้วยกับช่วงที่มีการปรับปรุงชุดข้อสอบ จะเห็นว่ามีส่วนสำคัญมากที่จะเพิ่มจำนวนนักวิทยุสมัครเล่น สังเกตช่วงหลังยกเลิกการสอบรหัสมอร์สนั้นจำนวนรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นในทันที แต่กลับเพิ่มขึ้นหลังจากมีการปรับปรุงข้อสอบข้อเขียนแล้ว

    ท้ายที่สุดแล้วอยากจะฝากไว้ให้คิดกันว่า จริงหรือที่ยกเลิกการสอบรหัสมอร์สแล้วทำคนสนใจกิจการวิทยุสมัครเล่นมากขึ้น และสนใจสอบเพื่อเลื่อนขั้นใบอนุญาตเพิ่มขึ้น หรือมันมีวิธีอื่น หรือวิธีไหนที่จะส่งผลอย่างแท้จริง

    ทั้งนี้ลักษณะของประชาชน กฏหมาย และสภาพสังคมของแต่ละประเทศมีความซับซ้อน และแตกต่างกัน วิธีการแบบเดียวกันอาจให้ผลลัพธ์ที่เหมือนหรือต่างกันได้

73 HS2JFW/K2JFW




No comments:

Post a Comment