Tuesday, November 1, 2022

จะเลือกอย่างไรดี เมื่อ กสทช ลดค่าปรับให้

 



เมื่อถูกเพิกถอนสัญญาณเรียกขานไปแล้วการ มี/ใช้ เครื่องวิทยุคมนาคม ก็เป็นความผิดตามกฏหมาย นี่ยังไม่รวมเรื่องยังคงออกอากาศด้วยสัญญาณเรียกขานเดิม ในขณะที่ใบอนุญาตหมดอายุลงไปแล้ว แต่คนละประเด็นกับประกาศฉบับนี้ ถ้าเราเป็นกลุ่มคนที่ถูกเพิกถอนสัญญาณเรียกขานไปแล้ว จะทำอย่างไร ลองดูข้อมูลต่อไปนี้

1. ขอใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นฉบับใหม่ โดยได้รับสัญญาณเรียกขานใหม่

วิธีนี้เหมาะสำหรับคนมีเครื่อง และยังคงต้องการเก็บไว้ อีกทั้งยังรักในกิจการวิทยุสมัครเล่นอยู่ ก็เพียงแต่ไปขอใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นฉบับใหม่ จ่ายเงิน 214 บาท มีอายุ 5 ปี และก็เสียค่าปรับ 200 บาทต่อเครื่องแล้วก็สามารถ มีและใช้ ไปได้ตลอดอายุของใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่น ซึ่งน่าจะเป็นวิธีที่ดี และประหยัดเงินที่สุดแล้ว เพราะทำครั้งเดียวแล้วจบ อยู่ยาว ๆ ไป 5 ปี ก็ต่อใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นเพียงแค่ 214 บาทเท่านั้น ไปเรื่อย ๆ

ใครเลือกใช้วิธีนี้ก็ควรจะต้องรีบหน่อย เพราะสัญญาณเรียกขานปัจจุบันถึง E25Sxx ใกล้จะหมด E25 แล้วก็จะขึ้น E26 เมื่อหมด E26 แล้วก็จะมี E28 เหลือคงค้างอยู่บ้างนิดหน่อย พอหมดจากนี้แล้วก็คือหมด จากการคำนวนก็เหลือประมาณไม่เกิน 3 หมื่น Call sign ที่สามารถใช้ได้ หลังจากนี้ก็เป็นหน้าที่ของ กสทช. ที่จะต้องเร่งจัดการกำหนดสัญญาณเรียกขานให้เพียงพอ ลองนึกภาพว่า หากใน 180 วันนี้มีคนแห่กันไปขอใบอนุญาตพนังงานวิทยุสมัครเล่นกันเป็นแสนจะเกิดอะไรขึ้น

2. ขอใบอนุญาตให้ มี เครื่องวิทยุคมนาคมไว้ในครอบครอง 

ซึ่งไม่สามารถใช้ได้ หากนำมาใช้ ก็จะมีความผิดตามกฏหมายอีก ซึ่งการขอใบอนุญาต มี เครื่องวิทยุคมนาคม จะมีอายุ 1 ปีเท่านั้น จะต้องขอใหม่ทุกครั้งที่หมดอายุ ขอต่อไปเรื่อยๆ หากจะเก็บเครื่องไว้ ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ มี ราคา 214 บาท ต่อเครื่อง มีกี่เครื่องก็คูณไป เป็นราคาที่ต้องจ่ายใน 1 ปี แล้วยังต้องจ่ายค่าปรับอีกเครื่องละ 200 บาท ในครั้งแรกที่ไปขอใบอนุญาตให้ มี ตามประกาศลดค่าปรับนี้ ถ้าลืม หรือไม่ต่อใบอนุญาตให้ มี ก็จะมีความผิดตามกฏหมาย และถึงเวลานั้น ประกาศลดค่าปรับก็หมดอายุลง และก็ไม่รู้ว่าจะมีประกาศลดค่าปรับอีกครั้งหรือไม่

3. จำหน่าย จ่าย แจก ไปยังผู้ที่ใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นอยู่

วิธีนี้ก็ง่าย จ่ายค่าปรับเครื่อละ 200 บาท แล้วส่งต่อให้กับคนอื่นได้เลย จะส่งต่อด้วยวิธีไหนก็เลือกตามสะดวก ถ้าจะ ขาย ก็ต้องระมัดระวังกันหน่อย เพราะอาจจะมีความผิดตามกฏหมายอื่นตามมาหรือไม่ เช่น ในขณะที่เรามีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วนำออกมาจำหน่าย (ค้า) มันจะมีความผิดตามกฏหมายอื่นอีกหรือเปล่า? 

วิธีการนี้ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ประสงค์จะใช้เครื่องดังกล่าวแล้ว อนาคตไปขอใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นใหม่ ได้สัญญาณเรียกขานใหม่ ก็ซื้อเครื่องใหม่มาใช้งาน

ถ้าจะขายในช่วงนี้ในระยะเวลาตามประกาศ 180 วัน ก็อาจจะพบกับผู้คนจำนวนมากที่เร่งเอาเครื่องวิทยุออกมาประกาศขายกันเต็มไปหมด ตัดสินใจก่อนก็อาจจะขายได้ก่อน ตัดสินใจที่หลังคนขายเต็มไปหมด คนซื้อก็มีตัวเลือกเยอะเป็นไปตามกลไกตลาด

4. ไม่ต้องทำอะไรเลย อยู่เฉยๆ 

จนครบระยะเวลาการลดค่าปรับ 180 วัน วันสุดท้ายคือวันที่ 28 เมษายน 2566 ซึ่งถ้าไปทำธุรกรรมต่างๆ เกี่ยวกับเครื่องวิทยุหลังจากนี้ก็โดนค่าปรับเต็ม ตามความผิด

ขอยกตัวอย่าง ผู้ซึ่งถูกเพิกถอนสัญญาณเรียกขานไปแล้ว มีเครื่องอยู่ 2 เครื่อง คือเครื่องวิทยุมือถือและเครื่องติดตั้งในรถยนต์ เทียบทางเลือกที่ 1 และ 2 ว่าจะมีค่าใช้จ่ายอย่างไร

เลือกวิธีที่ 1 ทำใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่น ขอสัญญาณเรียกขานใหม่

ค่าใช้จ่าย

1. ค่าใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่น 214 บาท

2. ค่าปรับกรณีมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 2 เครื่อง 200x2 = 400 บาท

3. ใบอนุญาตให้ มี/ใช้ ฉบับใหม่ของเครื่อง จำนวน 2 เครื่อง 535x2 = 1070 บาท

4. ใบอนุญาต ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม สำหรับเครื่องติดตั้งในรถยนต์ 1070 บาท

รวมจ่าย 2754 บาท ในปีแรก และไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มในระยะเวลา 5 ปีจากนี้


เลือกวิธีที่ 2 ขอใบอนุญาตให้มี ไปเรื่อยๆ

ค่าใช้จ่าย

1. ค่าใบอนุญาตให้ มี เครื่องวิทยุคมนาคม จำนวน 2 เครื่อง 214x2 = 428 บาท

2. ค่าปรับกรณีมีเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 2 เครื่อง 200x2 = 400 บาท

รวมค่าใช้จ่ายปีแรก 828 บาท และปีต่อไป 400 บาท

ถ้าเทียบระยะเวลา 5 ปีเท่ากับเลือกวิธีที่ 1 จะมีค่าใช้จ่าย 828+400+400+400+400 = 2428 บาท

และยังคงต้องจ่าย 400 บาทไปเรื่อยๆ


หมายเหตุ : บทความเป็นความคิดเห็นส่วนบุคคลเท่านั้น อาจมีความคลาดเคลื่อน ไม่สามารถนำไปใช้อ้างอิงได้ และไม่อนุญาตให้นำไปอ้างอิงใด ๆ ให้สอบถามกับผู้เกี่ยวข้องโดยตรงเรื่องการปฏิบัติและค่าใช้จ่าย

อ้างอิง

ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตวิทยุคมนาคม - https://www.nbtc.go.th/NBTC/media/apps.nbtclaw/251018_132644.PDF

Tuesday, March 29, 2022

จำนวนนักวิทยุสมัครเล่นไทย (มีนาคม 2565)

หลายคงคงได้ดู Clip ที่แสดงจำนวนพนักงานวิทยุสมัครเล่นหลายประเทศ รวมถึงของไทยด้วย ที่เผยแพร่ใน Youtube แล้วเกิดสงสัยว่าจำนวนนักวิทยุสมัครเล่นของไทย ตามใน Clip นี้เป็นจริงหรือไม่


จากที่เคยได้มีโอกาสเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติจำนวนนักวิทยุสมัครเล่นของไทยอยู่หลายปี และได้นำแสดงไว้ที่ https://www.rast.or.th/hamradio/ar-stat จึงได้พยายามรวบรวมข้อมูล (ด้วยความยากลำบาก) ขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยความสงสัยและอยากรู้ของตัวเองว่า ปัจจุบันไทยมีจำนวนนักวิทยุสมัครเล่นที่ใบอนุญาตยังไม่หมดอายุ จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 เท่าไหร่กันแน่ โดยแยกตามสัญญาณเรียกขานตั้งแต่ HS0-HS9 และ E20-E29 ซึ่งเป็นไปตามกราฟนี้





Monday, February 28, 2022

15 ปี หลังยกเลิกสอบรหัสมอร์สของ วิทยุสมัครเล่นอเมริกาเป็นอย่างไร มาดูกัน

     เมื่อสิบกว่าปีก่อนประชาคมนักวิทยุสมัครเล่นทั่วโลก เป็นกังวลกับอนาคตของกิจการวิทยุสมัครเล่นที่นับวันจะมีคนสนใจน้อยลงไปเรื่อย ๆ จึงได้ปรึกษาหารือกันระดับนานาชาติว่า จะมีหนทางไหนบ้างที่จะทำให้กิจการวิทยุสมัครเล่นยังคงดำเนินต่อไป มีคนเข้ามาสนใจมากขึ้น และหนึ่งในทางเลือกจากที่ประชุม WRC-03 นั้นก็คือ ยกเลิกข้อกำหนดของ ITU ตามข้อความดังต่อไปนี้

"Any person seeking a license to operate the apparatus of an amateur station shall prove that he is able to send correctly by hand and to receive correctly by ear texts in Morse code signals. The administrations concerned may, however, waive this requirement in the case of stations making use exclusively of frequencies above 30 MHz."

    สรุปใจความสั้น ๆ ว่า ใครก็ตามที่จะขอรับใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่น ในความถี่ต่ำกว่า 30 MHz ลงมา จะต้องสามารถส่งรหัสมอร์สด้วยมือและรับรหัสมอร์สด้วยหูของตนเองได้ โดยหน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศเป็นผู้พิจารณาให้สอดคล้องกับข้อกำหนดดังกล่าว และจากข้อสรุปจาก WRC-03 ได้ตกลงที่จะเปลี่ยนข้อความดังกล่าวเสียใหม่เป็น

"Administrations shall determine whether or not a person seeking a license to operate an amateur station shall demonstrate the ability to send and receive texts in Morse code signals."

    ความหมายคือ ให้หน่วยงานกำกับดูแลของแต่ละประเทศเป็นผู้ตัดสินใจได้เองว่าผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นจะต้องแสดงให้เห็นว่า เป็นผู้ที่ส่งและรับรหัสมอร์ส ได้หรือไม่ ให้แต่ละประเทศเลือกได้ว่าจะสอบหรือไม่สอบรหัสมอร์สนั่นเอง

    จากที่ประชุม WRC-03 ได้มีข้อเสนอให้ตัดข้อความเดิมออกไปเลย แต่ด้วยมีหลายประเทศไม่เห็นด้วย เพราะยังไม่มีความมั่นใจว่า การยกเลิกรหัสมอร์สออกไปนั้น เป็นผลดีต่อกิจการวิทยุสมัครเล่น จริงหรือไม่ จึงขอให้คงไว้ซึ่งสิทธิในการพิจารณาของประเทศตนเอง



    หลังจากนั้นมีหลายประเทศ ได้ทยอยยกเลิกการสอบรหัสมอร์สออกไป ซึ่งสหรัฐอเมริกาได้ยกเลิกการสอบรหัสมอร์สไป เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2007 สำหรับประเทศไทยยังคงไว้ ให้มีการสอบรหัสมอร์สตามเดิม และจากที่สหรัฐอเมริกา เป็นพี่ใหญ่ในการเสนอให้เปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ลองมาดูกันว่านับตั้งแต่มีการยกเลิกการสอบรหัสมอร์สไปเมื่อปี 2007 (พ.ศ. 2550)  หรือกว่า 15 ปีมาแล้วนั้นเป็นอย่างไร
กราฟแสดงจำนวนนักวิทยุสมัครเล่น แยกตามระดับใบอนุญาต

    นอกจากการยกเลิกรหัสมอร์สแล้ว สหรัฐอเมริการยังทำอีกหลายอย่าง เพื่อดึงให้คนหันมาสนใจกิจการวิทยุสมัครเล่นมากขึ้นกว่าเดิม เช่น ลดจำนวนระดับขึ้นของใบอนุญาตลงจาก 5 ขั้น เหลือ 3 ขั้น เพื่อลดจำนวนครั้งของการสอบ การปรับปรุงข้อสอบกลางให้มีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งทำเป็นประจำทุก 4 ปี

    จุดสังเกตุที่น่าสนใจคือจำนวนนักวิทยุสมัครเล่นระดับ General และ Extra ก่อนและหลังยกเลิกการสอบรหัสมอร์ส เนื่องจากเป็นระดับขั้นที่ต้องสอบรหัสมอร์สก่อนการยกเลิก พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักวิทยุสมัครเล่นจริง ซึ่งเป็นผลจากการยกเลิกการสอบรหัสมอร์ส และหลังจากนั้นไม่นาน ก็มีการปรับปรุงชุดข้อสอบใหม่สำหรับระดับ General ตามออกมา เป็นผลให้มีผู้สอบผ่านเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง แต่ระดับ Extra นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไม่มาก และมีการเพิ่มขึ้นอย่างช้า ๆ มาจนถึงปัจจุบัน ของทั้งระดับ General และ Extra 

    ที่ไม่ได้กล่าวถึงระดับ Technician นั้นเนื่องด้วยแต่เดิม ไม่มีการสอบรหัสมอร์สอยู่แล้ว จึงไม่น่าจะมีผลแต่อย่างใด แต่น่าสังเกตว่า ทำไมเมื่อยกเลิกรหัสมอร์สช่วงแรก กลับทำให้จำนวนของระดับ Technician ตกลงไปเล็กน้อย 

    ที่เป็นเช่นนั้น ต้องมาทำความเข้าใจกับวิธีการสอบของสหรัฐอเมริกาเพิ่มเติมอีกสักนิด การสอบของสหรัฐอเมริกา เป็นการสอบที่ผู้เข้าสอบสามารถสอบเลื่อนระดับ ไปถึงขั้นสูงสุดที่สามารถสอบผ่านได้ภายในการสอบครั้งเดียว เช่น ผู้เข้าสอบทำข้อสอบระดับ Technician ผ่านแล้ว สามารถขอสอบระดับ General ต่อได้ในวันนั้นเลย โดยกรรมการผู้คุมสอบจะเป็นผู้ตรวจ และประกาศผลให้ทราบในวันสอบ และเช่นเดียวกันหากสอบผ่านระดับ General ก็สามารถขอสอบระดับ Extra ได้เลย นั่นหมายความว่าถ้าเตรียมตัวมาดี ก็สามารถสอบผ่าน 3 ระดับได้ในวันเดียว ซึ่งเป็นการกระโดดข้ามระดับ Technician และ General ไป ทำให้จำนวนลดลงในช่วงนั้นได้

    ระบบนี้แตกต่างจากของไทย ที่ต้องผ่านทีละระดับไปก่อน ซึ่งแต่ละระดับก็ต้องใช้เวลาเป็นปี ทำให้ความสนใจ ความที่อยากจะพัฒนาตนเองต้องหยุดชะงักลง หลังจากที่สอบได้ขั้นต้นและใช้งานความถี่มาแล้วระยะหนึ่ง ด้วยเงื่อนไขการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปตามช่วงเวลาของแต่ละคน ถ้าเราสามารถปรับเรื่องนี้ได้ก็จะช่วยได้ไม่น้อย เรื่องการเพิ่มผู้ที่สนใจสอบเลื่อนระดับขั้นใบอนุญาตขึ้นมาได้ คล้ายสุภาสิตที่ว่า ตีเหล็กตอนร้อน

กราฟแสดงจำนวนนักวิทยุสมัครเล่น รวมทั้งหมด

    หากมองในภาพรวม จำนวนทั้งหมดก่อนและหลังยกเลิกการสอบรหัสมอร์ส จะพบว่าจำนวนรวมนั้นเริ่มลดลงเรื่อย ๆ และก็เพิ่มจำนวนขึ้นจากที่ลดลงไปเหลือ 656,000 คน มาเป็น 756,000 เพิ่มขึ้นประมาณ 1 แสนคนโดยประมาณ ในระยะเวลา 15 ปี และถ้าดูร่วมด้วยกับช่วงที่มีการปรับปรุงชุดข้อสอบ จะเห็นว่ามีส่วนสำคัญมากที่จะเพิ่มจำนวนนักวิทยุสมัครเล่น สังเกตช่วงหลังยกเลิกการสอบรหัสมอร์สนั้นจำนวนรวมไม่ได้เพิ่มขึ้นในทันที แต่กลับเพิ่มขึ้นหลังจากมีการปรับปรุงข้อสอบข้อเขียนแล้ว

    ท้ายที่สุดแล้วอยากจะฝากไว้ให้คิดกันว่า จริงหรือที่ยกเลิกการสอบรหัสมอร์สแล้วทำคนสนใจกิจการวิทยุสมัครเล่นมากขึ้น และสนใจสอบเพื่อเลื่อนขั้นใบอนุญาตเพิ่มขึ้น หรือมันมีวิธีอื่น หรือวิธีไหนที่จะส่งผลอย่างแท้จริง

    ทั้งนี้ลักษณะของประชาชน กฏหมาย และสภาพสังคมของแต่ละประเทศมีความซับซ้อน และแตกต่างกัน วิธีการแบบเดียวกันอาจให้ผลลัพธ์ที่เหมือนหรือต่างกันได้

73 HS2JFW/K2JFW