Wednesday, July 29, 2015

การใช้ Web Chat เพื่อช่วยการติดต่อของนักวิทยุสมัครเล่น

นักวิทยุสมัครเล่นที่นิยมชมชอบการติดต่อสื่อสารทางไกล มักจะเปิดเครื่องวิทยุแล้วเลือกความถี่ว่างๆ สักความถี่นึงแล้วกดคีย์เรียก "CQ DX" โดยหวังว่าจะมีการตอบกลับจากสถานีที่อยู่ไกลๆ โดยไม่อาจคาดเดาได้เลยว่าจะมีใครตอบกลับมาหรือไม่ การติดต่อ DX แบบนี้เป็นการติดต่อแบบไม่มีการนัดหมายล่วงหน้ามาก่อน เป็นการสุ่มโดยอาศัยดวงอย่างเดียว ซึ่งมักจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากเท่าไรนัก แต่ก็มีความสนุกตรงที่ได้เรียก "CQ DX" นี่แหละ และเพื่อเพิ่มโอกาสของความสำเร็จในการติดต่อกับสถานีไกลๆ ได้นั้น ก็จะมีวิธีการที่ง่ายที่สุดคือการนัดหมายวัน เวลา ความถี่และ Mode กันไว้ล่วงหน้าระหว่างสถานีต้นทางและปลายทาง แบบนี้เราจะเรียกว่าการติดต่อสื่อสารแบบ "Schedule" เรียกสั้นๆ ว่า "Sked" อ่านเป็นภาษาไทยว่า "สเก็ต" ซึ่งก็แล้วแต่ว่าจะใช้เครื่องมืออะไรในการนัดหมายล่วงหน้า ถ้าเป็นสมัยก่อนๆ ก็จะใช้จดหมาย ไปรษณียบัตร มาในยุคใหม่หน่อยก็ใช้อีเมลล์ สำหรับในปัจจุบันเรามีอินเทอร์เน็ตที่ทันสมัย มีเครื่องมือช่วยมากมาย ไม่ว่าจะเป็น facebook LINE หรือโปรแกรม Chat ต่างๆ แต่ที่จะมาแนะนำในบทความนี้ก็คือการใช้ Web Chat

นักวิทยุสมัครเล่นมีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยอยู่ตลอดเวลาเป็นอย่างดี ปัจจุบันเรามี Internet ความเร็วสูงมาก สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทั้งผ่านสายและไม่ผ่านสาย WiFi จะ 3G หรือ 4G เข้าถึงได้เกือบทุกซอกมุม จึงมีนักวิทยุได้สร้างเครื่องมือที่ชื่อว่า Web Chat ขึ้นมาเพื่อทำให้การนัดหมายของนักวิทยุสมัครเล่นทำได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วขึ้น



Web Chat บางครั้งนักวิทยุสมัครเล่นเราจะเรียกว่า "Logger" หรือ "Web Logger" แต่ไม่มีหน้าที่ในการบันทึก Log เหมือน Log book แต่เป็น Web ที่สร้างขึ้นเพื่อให้นักวิทยุสมัครเล่นเข้ามาพูดคุย และเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร รวบไปถึงนัด Sked กันที่ Chat ได้เลย Chat ที่เป็นที่นิยมอย่างมากในปัจจุบันที่หนึ่งคือ ON4KST Chat การเข้าใช้งานต้องเข้าไปที่ http://www.on4kst.com/chat/ ซึ่งการเข้าใช้งานได้นั้นจำเป็นต้องสมัครเป็นสมาชิกของระบบเสียก่อน สามารถสมัครได้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ที่ ON4KST Chat นั้นจะแยกเป็นห้องคุยต่างๆ หลายห้อง ตามแต่ความสนใจของแต่ละคน ตามลักษณะประเภคของการติดต่อที่แตกต่างกัน เพื่อลดความแออัดในที่เดียวกัน เช่นห้องคุยเรื่อง 144MHz ห้องคุยเรื่อง 50MHz เป็นต้น ซึ่งบางหัวข้อจะมีการแบ่งออกเป็นภูมิภาคตาม ITU อีกก็มี แต่การเข้าพูดคุยที่ ON4KST Chat นั้นจะต้องใช้ภาษาอังกฤษในการคุยเท่านั้น เนื่องจากเป็นการใช้งานร่วมกันทั้งโลก ถ้าแต่ละคนไปใช้ภาษาท้องถิ่นก็จะเกิดการสับสนได้ จึงเหมาะที่จะเข้าไปหา Sked กับต่างประเทศ สำหรับคนที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ดี



สำหรับประเทศไทย ในการนัด Sked ไม่ว่าจะ Mode ใดๆ เช่น 144MHz ทั้ง FM SSB CW หรือจะ Digital Mode อื่นๆ การจะไปใช้ที่ ON4KST Chat อาจไม่สะดวกเพราะบางครั้งเราก็ต้องการใช้ภาษาไทย ติดต่อกันเอง ทางสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยจึงได้จัดทำ Web Chat ลักษณะคล้ายๆกันขึ้นมา ที่ http://forum.rast.or.th/chat และเปิดให้ใช้งานกับนักวิทยุสมัครเล่นทั่วไปได้เข้าใช้งาน การใช้งานก็เพียงแต่สมัครเป็นสมาชิกของ RAST Forum ก่อนเท่านั้นด้วยสัญญาณเรียกขาน

เมื่อรู้อย่างนี้แล้วจะมัวเรียก CQ แล้วไม่มีคนตอบอยู่ทำไม ทุกครั้งที่เราอยู่หน้าเครื่องวิทยุเราก็เข้ามาที่ Chat แล้วบอกเพื่อนว่าตอนนี้เรากำลัง CQ อยู่ที่ความถี่ใด หรือเข้ามานัดกันใน Chat ดีกว่า ไม่จำเป็นต้องเข้ามานัด Sked กันอย่างเดียว แต่เข้ามาคุยกัน ทักทายกันกับเพื่อนๆ ก็ได้ เพราะบางครั้งท่านที่อยู่ต่างจังหวัดไกลๆ จะหาคนคุยด้วยทางวิทยุก็ลำบากเหลือเกิน

73 Joe
HS2JFW

ข้อดีของการให้ลูกเรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพขนาดเล็ก

ภาพจาก Youtube ข่าว Thai PBS : https://www.youtube.com/watch?v=mFB4Wp6o0Zs


คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเป็นพ่อ-แม่ ย่อมต้องการให้ลูกเรียนโรงเรียนดีๆ ด้วยเหตุผลร้อยแปด และส่วนมากก็จะมองไปที่โรงเรียนชื่อดังขนาดใหญ่ มีนักเรียนเป็นพันๆ คน ก็เลยมองข้ามโรงเรียนดีๆ ขนาดกลางถึงเล็กไป ซึ่งการเป็นโรงเรียนไม่ใหญ่มากนั้น มีนักเรียนจำนวนไม่มาก ไม่ถึงพันคน ก็มีข้อดีที่ตรงข้ามกับโรงเรียนขนาดใหญ่อยู่หลายเรื่องด้วกัน

1. นักเรียนต่อห้องมีจำนวนไม่มาก ประมาณ 20-25 คนเท่านั้น รวมไปถึงจำนวนครูประจำชั้น 2-3 คนต่อห้อง ซึ่งอัตราส่วนแบบนี้หาไม่ได้ในโรงเรียนขนาดใหญ่ ซึ่งจำนวนเด็กต่อครู แบบนี้ทำให้ครูสามารถเอาใจใส่เรื่องการเรียน การเล่น การทำกิจกรรมต่างๆ ของเด็กได้ทั่วถึง ครูจะรู้จักเด็ก รู้พฤติกรรมเด็ก และสามารถจัดกิจกรรมให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนได้ดี

2. จากจำนวนเด็กไม่มาก ทำให้ผู้ปกครองที่มารับ-ส่ง จะรู้จักกันทั้งหมด ลูกใคร หลานใคร มีอะไรก็หยิบยึ่นช่วยเหลือ ส่งเสริมกิจกรรมของเด็กๆ ได้อีกทางหนึ่ง นอกจากผู้ปกครอง พ่อ แม่ จะรู้จักกันแล้ว ครูประจำชั้นก็จะรู้จักผู้ปกครองทุกคนเป็นอย่างดี สามารถรายงานพฤติกรรม ผลการเรียน การทำกิจกรรมต่างๆ ของลูกๆ ให็กับพ่อแม่ เพื่อให้โรงเรียนและพ่อแม่ ช่วยกันส่งเสริมให้เด็กๆ มีพัฒนาการในการเรียน ทั้งที่บ้าน และที่โรงเรียน

3. พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ที่จำเป็นต้องไปรับ-ส่ง ลูกๆ ที่โรงเรียนโดยรถยนต์ส่วนตัวจะไม่พบกับการจราจรที่ติดขัดหน้าโรงเรียน แบบโรงเรียนขนาดใหญ่ การมารับ-ส่ง เด็กๆ กลายเป็นเรื่องสบายๆ ใช้เวลาไม่นาน ไม่ต้องหัวเสียกับรถติดหน้าโรงเรียน

คำถามตามมาอีกข้อคือ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าโรงเรียนไหนมีคุณภาพ เรื่องนี้คนเป็นพ่อเป็นแม่คงต้องทำการบ้านเยอะหน่อย เข้าไปดู เข้าไปสังเกต และที่ขาดไม่ได้เลยคือผลการประเมินโรงเรียนจากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ลองเข้าไปค้นดูครับว่าโรงเรียนที่ลูกเราเรียนอยู่นั้นมีผลการประเมินเป็นเช่นไร แล้วโรงเรียนอื่นๆ มีผลการประเมินเป็นเช่นไร ลองเปรียบเทียบกันดู

Friday, July 24, 2015

Call sign

ประเทภสถานีวิทยุสมัครเล่น
สัญญาณเรียกขาน
สถานีวิทยุสมัครเล่นประเภทบุคคล
   พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น
HS#Baaa – HS#Bzzz และ E2#Baaa - E2#Bzzz
   พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลาง
HS#aaa – HS#zzz และ E2#aaa - E2#zzz (ยกเว้น HS0Zaa - HS0Zzz)
   พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นสูง
HS#Ba – HS#zz และ E2#Ba - E2#zz
   พนักงานวิทยุสมัครเล่นภายใต้ 
   Reciprocal   Agreement
HS0Zaa - HS0Zzz และ HS/homecall
สถานีวิทยุสมัครเล่นประเภทพิเศษ
   สถานีวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่าย
HS#Aa – HS#Az (# = 1-9 ยกเว้น 0)
   สถานี Club Station ขั้นต้น
E2#Aa - E2#Az (# = 1-9 ยกเว้น 0)
   สถานี Club Station ขั้นกลางและขั้นสูง
HS0Aa - HS0Az และ E20Aa - E20Az
   สถานีทวนสัญญาณ
HS#RRaa – HS#RRzz
   สถานีเชื่อมต่อโครงข่ายอื่น
HS#RLaa – HS#RLzz
   สถานี Beacon
HS#RBaa – HS#RBzz

หลักการและเหตุผล

1. เพื่อการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ หากกำหนดสัญญาณเรียกขานแบ่งแยกตามระดับขั้นของใบอนุญาต จะทำให้สามารถตรวจสอบได้ง่าย หากมีการใช้งานในความถี่ที่ไม่ได้รับอนุญาตในแต่ละขั้น เช่น หากพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลาง ไปใช้งานความถี่ที่กำหนดให้เฉพาะพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นสูงใช้เท่านั้น จะสามารถทราบได้ทันทีจากสัญญาณเรียกขานที่ใช้ การกำหนดสัญณาณเรียกขานแบบแบ่งตามใบอนุญาตนี้มีการใช้งานในหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตเรีย เยอรมัน อังกฤษ และอีกหลายประเทศ

2. พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นกำหนดให้ใช้สัญญาณเรียกขานที่มี Suffix 4 ตัวอักษร ซึ่งข้อบังคับวิทยุระหว่างประเทศกำหนดให้สามารถทำได้ ในปัจจุบันมีประเทศออสเตเรีย กำหนดให้พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น (Foundation) ใช้สัญญาณเรียกขาน VK#Faaa ทั้งหมด และเมื่อสอบเลื่อนขั้นได้แล้วจะกำหนดสัญญาณเรียกขานที่มี Suffix 3 หรือ 2 ตัวให้ใหม่ ซึ่งการกำหนดสัญญาณเรียกขานของพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นของไทยนั้นกำหนดเป็น HS#Baaa – HS#Bzzz ซึ่ง (B หมายถึง Basic License) โดยอาจแบ่งแยกตามเขต 1 – 9 เหมือนเช่นเดิมได้หากต้องการ

3. พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางกำหนดให้ใช้สัญญาณเรียกขานที่มี Suffix 3 ตัว เมื่อพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นได้สอบเลื่อนขั้นแล้วให้ยกเลิกสัญญาณเรียกขานเดิมที่มี Suffix 4 ตัวและใช้สัญญาณเรียกขานใหม่ และสามารถรองรับการเลือกสัญญาณเรียกขานที่ว่างอยู่จากการเพิกถอนสัญญาณเรียกขาน ทั้งนี้สัญญาณเรียกขานของพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางควรสั้นลงเนื่องจากติดต่อในย่านความถี่ HF ทั้ง SSB และ CW มีความชัดเจนต่ำ ต้องการความรวดเร็วในการติดต่อสื่อสารจึงควรกำหนดให้สัญญาณเรียกขานสั้นลง

4. พนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นสูง กำหนดให้ใช้สัญญาณเรียกขานที่มี Suffix 3 ตัว หรือ 2 ตัวเมื่อพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นกลางสอบเลื่อนขั้นเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นสูงแล้ว ให้สิทธิในการขอรับสัญญาณเรียกขาน Suffix 2 ตัวได้หากมีความประสงค์ หรือจะคงใช้ Suffix 3 ตัวไว้เช่นเดิม

5. พนักงานวิทยุสมัครเล่นชาวต่างชาติที่มาขอรับอนุญาตในประเทศไทย กำหนดให้ใช้สัญญาณเรียกขาน HS0Zaa – HS0Zzz หรือ HS0/Homecall

6. การกำหนดสัญญาณเรียกขานให้ดำเนินการได้ทันที โดยเมื่อมีผู้มาขอรับใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นใหม่ให้กำหนดสัญญาณเรียกขาน HS#Baaa ไปตามลำดับ และหากเป็นผู้ที่มาขอรับใบอนุญาตหลังจากใบอนุญาตฉบับเดิมหมดอายุลงให้สิทธิในการเลือกรับสัญญาณเรียกขานใหม่แบบ Suffix 4 ตัวหรือคงสัญญาณเรียกขานเดิมไว้ได้ หากมีความประสงค์จะเปลี่ยนสัญญาณเรียกขานแบบ Suffix 4 ตัวจะให้สิทธิในการเลือกสัญญาณเรียกขานที่ต้องการได้ หรือพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นที่ใบอนุญาตยังไม่หมดอายุแต่มีความประสงค์จะขอเปลี่ยนไปใช้สัญญาณเรียกขานแบบ Suffix 4 ตัวให้สามารถดำเนินการได้เลย โดยให้สิทธิการเลือกสัญญาณเรียกขานที่ต้องการได้

7. หากดำเนินการตามแนวทางนี้ปัญหาเรื่องการกำหนดสัญญาณเรียกขานจะถูกแก้ไข และสามารถใช้งานได้ตลอดไป ซึ่งในระยะยาวสัญญาณเรียกขานจะเข้าสู่ระบบที่กำหนดไว้นี้เอง โดยไม่ต้องมีการแก้ปัญหาใดๆ เพิ่มอีก และหากสัญญาณเรียกขานของพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้นหมดลงอีกในกลุ่ม HS#Baaa ก็สามารถเลือกกลุ่มต่อไปมาใช้ได้ เช่น HS#Caaa เป็นต้น แต่หากดำเนินการมาตรการการไม่ขอรับใบอนุญาตฉบับใหม่หลังจากใบอนุญาตฉบับเดิมสิ้นสุดลงแล้วเกินกว่า 2 ปีสัญญาณเรียกขานจะถูกเพิกถอน ก็จะทำให้การบริหารจัดการสัญญาณเรียกขานเพียงพอไปตลอด

8. สถานีวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่ายกำหนดให้ใช้ HS#Aa – HS#Az (# = 1-9 ยกเว้น 0)

9. สถานี Club Station ขั้นต้น กำหนดให้ใช้ E2#Aa - E2#Az (# = 1-9 ยกเว้น 0) เพื่อการแยกชัดเจนถึงสิทธิการใช้งานความถี่ ซึ่งสะดวกในการกำกับดูแลกันเองของนักวิทยุสมัครเล่น

10. สถานี Club Station ขั้นกลางและขั้นสูง กำหนดให้ใช้ HS0Aa - HS0Az และ E20Aa - E20Az มีความชัดเจนในตัวเพราะใช้เลข 0 กำกับ

11. สถานีทวนสัญญาณ ปัจจุบันไม่มีการกำหนดสัญญาณเรียกขานให้กับสถานีทวนสัญญาณ แต่ให้ใช้สัญญาณเรียกขานของสถานีควบคุมข่ายที่ได้รับอนุญาต ซึ่งไม่เหมาะสมเนื่องจากเป็นสถานีที่แยกหน้าที่กัน และในอนาคตอาจมีสถานีทวนสัญญาณจำนวนมากในแต่ละจังหวัด กระจายไปในแต่ละพื้นที่ และความถี่ในแต่ละย่าน เช่นสถานีทวนสัญญาณความถี่ 28-29.7 MHz และ UHF (430-440 MHz) ดังนั้นแต่ละสถานีควรมีสัญญาณเรียกขานกำหนด และควรแยกออกจากสัญญาณเรียกานของสถานีควบคุมข่าย

12. สถานีเชื่อมโยงโครงข่ายอื่น และสถานี Beacon ควรกำหนดสัญญาณเรียกขานประจำสถานีเหล่านี้โดยเฉพาะเพื่อการกำกับดูแลที่เป็นระบบ ไม่อนุญาตให้ใช้สัญญาณเรียกขานของตนเองในการใช้งานสถานีประเภทเหล่านี้ เนื่องจากจำเป็นต้องได้รับการอนุญาตให้เป็นไปตามประกาศฯ ที่ได้กำหนดไว้ก่อนหน้า และรวมถึงเพื่อแก้ปัญหาทางด้านเทคนิคการใช้งานวิทยุสื่อสารประเภทเสียงดิจิตอลอีกด้วย