Monday, November 23, 2015

การสอบเพื่อรับใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นประเทศสหรัฐอเมริกา (US Amateur Radio Examination)

ความเป็นมาของการสอบวิทยุสมัครเล่นสหรัฐอเมริกา

การสอบวิทยุสมัครเล่นของ US ก่อนปี 1980 คล้ายกับประเทศไทยปัจจุบันคือทีมงาน FCC ได้จับสอบขึ้นเองที่ส่วนกลาง หรือบางครั้งก็ไปจัดขึ้นตามรัฐต่างๆ ทั่วประเทศ แต่เมื่อ FCC ถูกตัดงบประมาณเกี่ยวกับการจัดสอบวิทยุสมัครเล่น ส่งผลให้ไม่มีการสอบนักวิทยุสมัครเล่นเกิดขึ้นอยู่หลายปี ทำให้นักวิทยุสมัครเล่นต้องจัดการสอบกันขึ้นมาเอง โดยสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งสหรัฐอเมริกา (ARRL) เป็นผู้ร่างระเบียบร่วมกับคณะทำงานของ FCC และชื่อว่า “Volunteer Examiner Program หรือ โครงการอาสาสมัครจัดสอบ (VE)” ซึ่งต่อมารัฐบาลโดย FCC ก็อนุญาตให้ดำเนินการได้โดยการกำหนดให้มีหน่วยงานประสานงานระหว่าง FCC และ VE เรียกว่า Volunteer Examiner Coordinators (VECs) โดยเริ่มการสอบในระบบ VE ครั้งแรกเมื่อเดือนกันยายน 1984 ปัจจุบันมีผู้ที่เป็นอาสาสมัครจัดสอบ (VE) ของ ARRL แล้วกว่า 50,000 คน และมีการจัดสอบมาแล้วกว่า 1.25 ล้านคน จากการจัดสอบกว่า 90,000 ครั้ง


" การสอบเป็นพนักงานวิทยุสมัครเล่นของสหรัฐอเมริกานั้น เป็นระบบที่จัดการกันเองผ่านองค์กรวิทยุสมัครเล่นไม่ได้จัดการสอบโดยภาครัฐ แต่ทำโดยอาศัยตัวแทนที่ได้รับการรับรองให้ทำหน้าที่จากองค์กรแล้วเรียกว่า VE โดยผู้ที่เป็น VE ที่มีใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นที่สูงกว่าสามารถจัดการและควบคุมการสอบให้กับผู้ที่ต้องการสอบในขั้นที่รองลงมา "


Volunteer Examiner Coordinators (VECs)

VEC คือองค์กรที่ FCC รับรองให้เป็นผู้ประสานงานเกี่ยวกับการจัดสอบวิทยุสมัครเล่นได้ โดยต้องประสานงานกับ VE เพื่อจัดเตรียม และบริหารการจัดสอบ ซึ่ง VEC นั้นจะเป็นผู้รวบรวมใบสมัคร และผลสอบของผู้เข้าสอบทุกคนที่ได้รับจาก VE รวมถึงทำการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่ได้รับมา และแก้ปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในการสอบแต่ละครั้งด้วย จากนั้น VEC จะส่งข้อมูลในต่างๆ ให้กับ FCC ในรูปแบบอิเล็คทรอนิกส์เพื่อออกใบอนุญาตต่อไป ซึ่ง VEC ต้องเก็บข้อมูลของผู้เข้าสอบทั้งหมดไว้ไม่ต่ำกว่า 15 เดือน และต้องส่งข้อมูลให้ FCC ตรวจสอบได้กรณีมีการร้องขอ
FCC สงวนสิทธ์ที่จะจัดการสอบขึ้นมาเองได้ หรือให้มีการสอบใหม่ หากมีข้อสงสัยจากการจัดสอบของ VE รวมไปถึงยกเลิกใบอนุญาตหากผู้เข้าสอบไม่ผ่านการสอบใหม่ โดยผู้เข้าสอบต้องยอมรับผลโดยปราศจากข้อร้องเรียนใดๆ
คุณสมบัติของ VEC มีดังนี้
1. เป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกิจการวิทยุสมัครเล่นเท่านั้น
2. ต้องสามารถให้บริการได้อย่างน้อยในเขตพื้นที่ที่ FCC กำหนด
3. ต้องจัดการสอบให้กับทุกระดับขั้นใบอนุญาต
4. ต้องจัดการสอบและประสานงานกับ VE ทุกคน โดยไม่จำกัดเชื่อชาติ เพศ ศาสนา เป็นหรือไม่เป็นสมาชิกขององค์กร

ปัจจุบันมี VEC ทั้งหมด 14 องค์กร โดย ARRL/VEC เป็นองค์กรที่ใหญ่ที่สุดมีสมาชิก VE มากกว่า 35,000 คน ทั่วประเทศ และในหลายๆ ประเทศทั่วโลก และยังคงมีจำนวน VE ที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

Volunteer Examiner (VE)

Volunteer Examiner (VE) คืออาสาสมัครจัดสอบ ที่ขึ้นตรงและต้องประสานงานกับ VEC เพื่อจัดสอบ เป็นผู้ซึ่งทำหน้าที่จัดการสอบ และคุมสอบ โดยข้อสอบจะถูกเตรียมโดย VE ที่ได้รับใบอนุญาตวิทยุสมัครเล่นขั้นสูงสุด (Amateur Extra) ซึ่งคัดมาจากคลังข้อสอบที่ได้รับการยอมรับแล้วเท่านั้น (Question Pool) ซึ่งทั้งหมดจะถูกกำหนดโดย VEC 

ในการสอบแต่ละครั้งจะต้องมี VE อย่างน้อย 3 คนเป็นผู้ควบคุมการสอบ หน้าที่ของ VE มีดังนี้ เมื่อ VE ได้แจ้งต่อ VEC ว่าจะมีการสอบ จากนั้น VEC จะจัดส่งวัสดุ อุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นสำหรับการสอบอันได้แก่ ใบสมัครสอบ (NCVEC Form 605) และ CSCE (CSCE คือใบประกาศที่จะให้ไว้กับผู้ที่เข้าสอบที่ผ่านการสอบ เทียบได้กับใบประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่น) รวมไปถึงข้อสอบ กระดาษตอบ แผ่นตรวจข้อสอบ ใบสรุปผลการสอบ และเอกสารอื่นๆ ที่มีจำนวนเพียงพอต่อจำนวนผู้ที่จะเข้าสอบในแต่ละครั้ง

การสมัครเป็น VE

คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นอาสาสมัครจัดสอบ (VE) นั้น มีดังนี้
1. อายุ 18 ปีขึ้นไป
2. ไม่เคยถูกพักใช้ เพิกถอน ใบอนุญาตวิทยุสมัครเล่น
3. ต้องมีใบอนุญาตที่ไม่หมดอายุของนักวิทยุสมัครเล่นระดับ General, Advanced หรือ Extra

หากผู้ที่มีคุณสมบัติครบทั้ง 3 ประการแล้วมีความประสงค์จะสมัครเป็น VE จะต้องทำขั้นตอนดังนี้
1. กรอกใบสมัคร และเซ็นต์ชื่อยอมรับข้อตกลง
2. สำเนาใบอนุญาตที่ไม่หมดอายุ
3. ทำข้อสอบสำหรับการเป็น VE ข้อสอบนี้เป็นแบบข้อเขียน ผู้สมัครต้องอ่านคู่มืออาสาสมัครจัดสอบ และนำมาเขียนตอบเป็นข้อๆ ส่งไปยัง VEC ซึ่งในคู่มือเล่มนี้จะอธิบายวิธีการ และขั้นตอน วิธีปฏิบัติงานทั้งหมดโดยละเอียด ซึ่งผู้สมัครเป็น VE ต้องทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อน จึงจะสามารถตอบข้อสอบนี้ได้อย่างถูกต้อง

นอกจากนี้ในระเบียบว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่นของ FCC ยังระบุข้อปฏิบัติและข้อห้ามของ VE ไว้ (Part 97.509 Administering VE requirements) ดังนี้ 
1. VE ผู้ดำเนินการควบคุมการสอบจะต้องอยู่และสังเกตการสอบอย่างต่อเนื่องจนจบการสอบ และจะต้องหยุดการสอบนครั้งนั้นทันทีหากพบว่าผู้เข้าสอบกระทำผิดหรือไม่เป็นไปตามข้อกำหนด
2. VE ต้องไม่จัดการสอบให้กับผู้ที่ญาดิของตน อันได้แก่ คู่สมรส บุตร บุตรบุญธรรม พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย พ่อบุญธรรม แม่บุญธรรม พี่ น้อง พี่บุญธรรม น้องบุญธรรม หลาน ลุง ป้า น้า อา หรือญาตตามกฏหมาย
3. VE ต้องไม่จัดการสอบโดยเพื่อการคดโกง หรือรับอามิสสินจ้าง หรือทำเพื่อต้องการรับเงินค่าจ้างวาน หากพบกระทำผิดมีบทลงโทษโดยการยกเลิกการเป็น VE และยกเลิกใบอนุญาตการเป็นนักวิทยุสมัครเล่น
4. ในการจัดการสอบต้องไม่ผ่อนปรน อนุโลมกับผู้เข้าสอบอย่างเด็ดขาด ต้องไม่ใช้ชุดคำถามเดิมกับผู้สอบคนเดิม หากมีการสอบใหม่

ค่าสมัครสอบและค่าใช้จ่ายในการจัดสอบ

VEC และ VE สามารถเรียกเก็บใช้จ่ายที่จ่ายไปตามจริง ที่เกี่ยวกับเฉพาะการจัดการสอบเท่านั้น และ FCC ยังอนุญาตให้ VEC เก็บค่าสมัครสอบได้ตามอัตราที่กำหนด (อาจเก็บหรือไม่เก็บก็ได้) ซึ่งหากตกลงว่าจะมีการเก็บค่าสมัครสอบ จะต้องเป็นอัตราเดียวกันกับทุกคน และทุกครั้งที่มีการจัดสอบภายในปีนั้นๆ อัตราค่าสมัครสอบของปี 2012 อยู่ที่ 15 USD สำหรับการสอบ 1 ครั้ง

Question Pool หรือคลังข้อสอบกลาง

VEC มีหน้าที่ความรับผิดชอบต่อการจัดทำและปรับปรุงข้อสอบกลางให้มีความทันสมัย ซึ่งข้อสอบกลางจะเป็นข้อสอบเปิดเผย และแจกจ่ายให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ซึ่ง VEC จะจัดส่งตัวแทนมาทำงานร่วมกันเรียกว่า National Conference of VEC (NCVEC) Question Pool Committee หรือ QPC 
ทั้งยังเปิดโอกาสให้นักวิทยุสมัครเล่นได้มีส่วนร่วมโดยการส่งความเห็น ข้อคิดเห็น เพื่อปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้นด้วย ซึ่งการปรับปรุงคลังข้อสอบกลางนั้นจัดทำใหม่ทุกๆ 4 ปี


หมวดต่าง ๆ ในหลักเกณฑ์การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่น ปี พ.ศ. 2557



ประกาศ กสทช เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตและกำกับดูแลกิจการวิทยุสมัครเล่น ปี พ.ศ. 2557 แบ่งออกเป็น 11 หมวด ดังนี้
หมวด 1 บททั่วไป
หมวด 2 วัตถุประสงค์
หมวด 3 พนักงานวิทยุสมัครเล่น
หมวด 4 สถานีวิทยุสมัครเล่น
หมวด 5 คลื่นความถี่ เครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์
หมวด 6 สัญญาณเรียกขาน (Call sign)
หมวด 7 การบันทึกข้อความการติดต่อสื่อสาร
หมวด 8 การปฏิบัติในกรณีเกิดภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน
หมวด 9 ข้อห้ามสำหรับกิจการวิทยุสมัครเล่น
หมวด 10 คุณธรรม จริยธรรม และข้อพึงปฏิบัติของพนักงานวิทยุสมัครเล่น
หมวด 11 มาตรการกำกับดูแล
ท้ายสุด เป็นบทเฉพาะกาล